การศึกษา INTERFAST-2 แสดงให้เห็นว่า IF (Intermittent Fasting) เป็นทางเลือกการลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการฉีดอินซูลิน
การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ควรให้ความสำคัญทั้งการลดระดับน้ำตาล การลดน้ำหนัก และลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการฉีดอินซูลินมักมีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน การดื้ออินซูลินที่มากขึ้น และส่งผลให้ต้องเพิ่มระดับยาฉีดอินซูลิน นำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่ม และเพิ่มการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การทำ Intermittent fasting (IF) เป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมแคลอรี แต่ปัจจุบันยังมีความกังวลในเรื่องการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังทำ IF ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการฉีดอินซูลิน
การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม INTERFAST-2 ศึกษาในประเทศออสเตรีย ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการฉีดอินซูลิน อายุระหว่าง 18-75 มีระดับ HbA1c ≥ 7.0% และได้รับการฉีดอินซูลิน ≥ 0.3 ยูนิต/กก./วัน มีผู้ป่วยทั้งหมด 46 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ได้รับการทำ IF (3 วัน/สัปดาห์) และกลุ่มควบคุม ในระยะเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ ได้รับคำปรึกษาด้านโภชนาการและติดตามระดับน้ำตาล เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงระดับ HbA1C 12 สัปดาห์จากก่อนทำการศึกษา และเพื่อดูว่าทั้งสองกลุ่มสามารถลดน้ำหนัก ≥ 2% ลดขนาดยาอินซูลิน ≥ 10% และลดระดับ HbA1C ≥ 3 mmol/mol ได้หรือไม่ ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่ได้รับการทำ IF มีระดับ HbA1C ลดลง 27.3 ± 12.0 mmol/mol เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งลดลง 0.1 ± 6.1 mmol/mol ในระยะเวลามากกว่า 12 สัปดาห์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับในด้านการลดน้ำหนัก ≥ 2% ลดขนาดยาอินซูลิน ≥ 10% และลดระดับ HbA1C ≥ 3 mmol/mol พบว่า กลุ่มที่ทำ IF สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 8 คน และไม่พบผู้ที่ได้เป้าหมายในกลุ่มควบคุม (p<0.001) โดยทั้งสองกลุ่มไม่พบการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
การทำ IF ในผู้ป่วยที่ได้รับอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถทำได้อย่างปลอดภัย โดยสามารถลดระดับน้ำตาล ลดน้ำหนัก และลดขนาดยาอินซูลินได้ แต่มีข้อจำกัด คือ การศึกษานี้ได้รับการตรวจระดับน้ำตาลด้วย CGM (Continuous glucose monitoring) ผู้ป่วยสามารถเห็นระดับน้ำตาลตนเองได้ ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนอาหาร และขณะที่ทำ IF ให้รับประทานอาหารในช่วงเช้า และกลางวัน ฉีดอินซูลิน Glargine U300 ในตอนเช้า ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้น้อย
เรียบเรียงโดย พญ. สุภัทรา จงศิริกุล
ข้อมูลจาก https://doi.org/10.2337/dc22-1622