งานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3 ครั้ง ต่ออาทิตย์ เป็นเวลานาน 6 เดือน ในผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับระดับปานกลางถึงรุนแรง ช่วยเพิ่มการทำงานของสมองส่วนหน้า ทำให้ความจำดีขึ้น และลดความรุนแรงของการหยุดหายใจ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลทำให้สมองส่วนหน้าทำงานได้ลดลง วัดโดยอัตราการใช้น้ำตาลของสมอง (cerebral metabolic rate of glucose consumption: CMRgl) จากการสแกน 18FDG-PET การลดลงของ CMRgI บ่งบอกถึงการบาดเจ็บของระบบประสาท การทำงานที่ผิดปกติของเครือข่ายใยประสาท และสามารถทำนายได้ถึงการเกิดของโรคความจำเสื่อมในอนาคต
งานวิจัย แบบ Randomized control trial ในผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับระดับปานกลางถึงรุนแรง อายุ 40 – 65 ปี จำนวน 47 คน ทำการสุ่มผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออกกำลังกาย จำนวน 23 คน และกลุ่มไม่ออกกำลังกาย จำนวน 24 คน สำหรับกลุ่มออกกำลังกาย จะให้ผู้ป่วยออกกำลัง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 60 นาที นาน 6 เดือน โดยใน 60 นาที จะแบ่งเป็น การยืดกล้ามเนื้อ 5 นาที ปั่นจักรยาน 40 นาที ออกกำลังกายแบบยืดเหยียด 10 นาที และคลายกล้ามเนื้อ 5 นาที ดูผลลัพธ์เป็นการทำงานของสมอง โดยการสแกน 18FDG-PET, เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง ตรวจการนอนหลับ และแบบทดสอบความสามารถการทำงานของสมองส่วนหน้า (ความจำ การเรียนรู้ ความสนใจ) จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายทำให้ CMRgl ของสมองส่วนหน้าฝั่งขวาเพิ่มขึ้น สามารถลดค่าดัชนีการหยุดหายใจ (AHI) ลงได้ 5.36 ครั้ง/ชม. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมองส่วนหน้า โดยวัดจากแบบทดสอบ Frontal Assessment Battery, Trail Making Test-B และ Stroop Color Word Test อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยนี้ พบว่าการออกกำลังกายไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการนอน ค่าดัชนีของการตื่น (arousal index) และการลดลงของออกซิเจน
ในผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์ควรจะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีข้อดีในการชะลอการเสื่อมของสมองส่วนหน้า ช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำ ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม และสามารถลดความรุนแรงของการหยุดหายใจ
เรียบเรียงโดย พญ. เชิญขวัญ ฐิติรุ่งเรือง
ข้อมูลจาก
- https://www.nature.com/articles/s41598-022-13115-2
- https://specialty.mims.com/topic/exercise-helps-avoid-hypoxia–preserve-brain-metabolism-and-cognition-in-osa