มีการศึกษาพบว่า การลดระดับไขมันแอลดีแอล (LDL) ด้วยยา Ezetimibe สามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเปิดเส้นเลือดหัวใจ) ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 75 ปีที่มีระดับ LDL สูง
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุนว่าการใช้ยาลดระดับ LDL สามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 75 ปี มีการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) พบว่าการลดระดับ LDL ด้วยยากลุ่ม statin และกลุ่มที่ไม่ใช่ statin สัมพันธ์กับการลดอุบัติการณ์ในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่หลักฐานในคนสูงอายุยังจำกัด ร่วมกับประโยชน์ที่ได้จากยา Ezetimibe ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุยังไม่เป็นที่แน่ชัด
การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized controlled trial) ในประเทศญี่ปุ่น 363 สถาบันทางการแพทย์ จำนวน 3,796 คน ในช่วงพฤษภาคม 2009 ถึง ธันวาคม 2014 ศึกษาผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 75 ปี ที่มีระดับ LDL สูงร่วมกับไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม (สุ่มแบ่งชั้นตามอายุ เพศ ระดับ LDL ก่อนเข้าร่วมการศึกษา) คือ กลุ่มที่ได้รับ Ezetimibe 10 มิลลิกรัม (1,898 คน) และกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานปกติ ติดตาม 4.1 ปี วัตถุประสงค์หลัก คือ ศึกษาอุบัติการณ์การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง
หลังจากผ่านเกณฑ์การคัดออกผู้เข้าร่วมวิจัย มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการวิเคราะห์ผลจำนวน 1,716 คน (ร้อยละ 90.4) ในกลุ่มที่ได้ยา Ezetimibe และ 1,695 คน (ร้อยละ 89.3) ในกลุ่มควบคุม ผลการศึกษาพบว่า Ezetimibe ลดอุบัติการณ์การเกิดการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (P=0.002) นอกจากนี้ยังลดอุบัติการณ์การเกิดการเปิดเส้นเลือดหัวใจ และการทำหัตถการเกี่ยวกับหัวใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างกันในอุบัติการณ์การเกิดหลอดเลือดสมอง การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ หรือการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทั้งสองกลุ่ม
การลดระดับ LDL ด้วยยา Ezetimibe สามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 75 ปีที่มีระดับ LDL สูง แต่เนื่องจากลักษณะของการศึกษาเป็นแบบ open-label มีการยุติการศึกษาก่อนเวลาอันควร และมีปัญหาเกี่ยวกับการติดตามผล จึงอาจต้องวิเคราะห์ผลการศึกษาอย่างระมัดระวัง
เรียบเรียงโดย พญ. สุภัทรา จงศิริกุล
ข้อมูลจาก https://www.ahajournals.org/doi/10.1161/CIRCULATIONAHA.118.039415