การศึกษาล่าสุดพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Long COVID เพิ่มสูงขึ้น ในผู้ป่วยเพศหญิง ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยที่มีจำนวนอาการแสดงก่อนการวินิจฉัยมาก ๆ โดยปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงและกระบวนการดำเนินการของโรค
ภาวะ Long COVID พบได้ถึง 2/3 ของผู้ป่วยได้เคยได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการมักจะประกอบไปด้วย อาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก แม้จะพ้นจากภาวะการติดเชื้อไปแล้วก็ตาม และมีผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพในอนาคตของผู้ป่วยกลุ่มนี้
Adrien Chan Sui Ko จาก Centre Hospitalier Universitaire Amiens-Picardie ประเทศฝรั่งเศส และทีมงานได้รวบรวมคนไข้โควิดจำนวน 316 คน โดยได้ทำการเก็บข้อมูลย้อนหลังจากการรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในแผนกเวชบำบัดวิกฤต และเก็บข้อมูลอาการของผู้ป่วยหลังจากออกจากโรงพยาบาลไป 4 เดือน ผลปรากฏว่า หลังการรักษาโรคโควิดและนัดตรวจติดตามหลังออกจากโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยที่ 115 วันนั้น ผู้ป่วยจำนวน 201 คนยังคงมีอาการจากโรคโควิดอยู่อย่างน้อย 1 อาการ โดยอาการแสดงที่มีมากที่สุดคือ หายใจหอบเหนื่อย ร้อยละ 39.2 และรู้สึกอ่อนแรง (asthenia) ร้อยละ 37.1 เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่เหลือที่ไม่มีอาการแสดงใดๆ หลังหายป่วยแล้วนั้น ผู้ที่มีโรคลองโควิด มีอุบัติการณ์ของโรคความดันโลหิตสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีอาการของโรคลองโควิด ผู้ป่วยเพศหญิงมีความเสี่ยงต่อการเป็นลองโควิดมากขึ้นถึง 1.94 เท่า ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.01 เท่า และจำนวนอาการแสดงแรกเริ่มก่อนการวินิจฉัยโรคโควิด 19 ที่สูงขึ้น มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.35 เท่า ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่น ๆ อาทิเช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งนั้น ยังไม่พบว่ามีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติของการเกิดโรคลองโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่มีประวัติโรคเหล่านี้มาก่อน
ข้อมูลข้างนั้นจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคคลองโควิด สามารถเฝ้าระวัง และ หาทางป้องกันรักษาภาวะลองโควิดอย่างรวดเร็ว
ผู้เรียบเรียง นพ. วิชล ลิ้มพัฒนาชาติ
ข้อมูลจาก https://specialty.mims.com/topic/female-sex–hypertension-long-covid