การศึกษาชี้ให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ โดยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกําลังกาย และการฝึกสมอง สามารถช่วยให้อายุยืนยาว โดยปราศจากภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การดําเนินชีวิตที่ถูกต้องตามสุขลักษณะนั้นทำให้อายุยืนยาวขึ้น แต่เมื่ออายุที่มากขึ้นก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น มีนักวิจัยศึกษาว่าอายุที่ยืนขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ปราศจากภาวะสมองเสื่อมด้วยหรือไม่
Klodian Dhana และคณะได้ทำการวิจัยสุขภาพผู้สูงอายุในชิคาโก โดยมีผู้เข้าร่วมวิจัยเกือบ 2,500 ราย ติดตามปัจจัยสุขภาวะ 5 ข้อ คือ อาหารเพื่อสุขภาพสมอง การฝึกสมอง การออกกําลังกายระดับปานกลางขึ้นไป การไม่สูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับเบาถึงปานกลาง พบว่าสตรีอายุ 65 ปีที่มีปัจจัยสุขภาวะดังกล่าวมาก 4 – 5 ข้อ มีอายุยืนกว่าผู้ที่มีปัจจัยน้อยเพียง 0 – 1 ข้อ ถึง 3.1 ปี โดยผู้ที่มีปัจจัยมากใช้เวลา 10.8% ของชีวิตอยู่ในสภาวะสมองเสื่อม ในขณะที่ผู้ที่มีปัจจัยน้อยใช้เวลา 19.3% ของชีวิตไปกับโรคสมองเสื่อม สตรีอายุ 65 ปีที่ไม่เป็นสมองเสื่อมและมีปัจจัยมากจะมีอายุยืนอีกประมาณ 21.5 ปี มากกว่าผู้ที่มีปัจจัยน้อยซึ่งจะมีอายุยืนอีกประมาณ 17.0 ปี ในทำนองเดียวกันกับบุรุษอายุ 65 ปี ที่มีปัจจัยสุขภาวะมาก 4 – 5 ข้อ มีอายุขัยรวม 23.1 ปี ซึ่งยืนกว่าผู้ที่มีปัจจัยสุขภาวะน้อย 0-1ข้อ ถึง 5.7 ปี โดยผู้ที่มีปัจจัยมากใช้เวลา 6.1% ของชีวิตอยู่ในภาวะสมองเสื่อม ขณะที่ผู้ที่มีปัจจัยน้อยใช้เวลาถึง 12.0% ของชีวิตไปกับโรคสมองเสื่อม บุรุษอายุ 65 ปีที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมและมีปัจจัยมากจะมีอายุยืนอีกประมาณ 21.7 ปี มากกว่าผู้ที่มีปัจจัยน้อยซึ่งจะมีอายุยืนยาวอีกเพียงประมาณ 15.3 ปี
วิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพดีนั้นทำให้อายุยืนยาวขึ้นในทั้ง 2 เพศ และในช่วงชีวิตที่เพิ่มมานั้นก็ไม่มีภาวะสมองเสื่อมด้วย การคาดประมาณอายุขัยนี้อาจช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้กําหนดนโยบายต่าง ๆ สามารถวางแผนบริการด้านสาธารณสุข ค่าใช้จ่าย ในอนาคตต่อไป
เรียบเรียงโดย พญ. นิษฐา ปรุงวิทยา
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/972171
2. https://www.bmj.com/content/377/bmj-2021-068390