มีความเชื่อมโยงของเชื้อโควิดกับการอักเสบของหัวใจในแมวและสุนัข โดยสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ ติดเชื้อโควิดไม่นานหลังจากพบหรือสงสัยว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงติดเชื้อดังกล่าว
มีรายงานพบว่า แมวและสุนัขได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 จากเจ้าของแต่อาการไม่รุนแรง อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหรือระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูกไหล จาม และเร็ว ๆ นี้ ที่อังกฤษมีรายงานว่าสัตว์เลี้ยง ทั้งแมวและสุนัขที่อาจติดเชื้อไวรัสดังกล่าว มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute myocarditis) มาคลินิกมากขึ้น ในเวลาที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดของการระบาดในอังกฤษ จึงสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกัน
จากการถามเจ้าของสัตว์เลี้ยงพบว่า สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสระหว่าง 3 – 6 สัปดาห์ก่อนป่วย จึงตรวจหาสารพันธุกรรม (PCR) และภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส พบว่าครึ่งหนึ่งมีผลทดสอบเป็นบวกในสายพันธุ์อัลฟ่าที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันของโควิดในอังกฤษช่วงธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 ซึ่งตรงกับรายงานผู้ป่วยล่าสุดจากฝรั่งเศส ที่สัตว์เลี้ยงทั้งหมดก็มีอาการทางระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจเช่นกัน อาจเพราะเชื้อจับตัวรับ ACE-2 เข้าสู่เซลล์ทำให้ติดเชื้อ แมวและสุนัขมีโมเลกุลตัวรับ ACE-2 คล้ายกับของคนจึงแพร่สู่กันได้ ตัวรับ ACE-2 นี้ แพร่หลายในร่างกายไวรัสจึงแพร่ระบาดไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอดได้ แต่ในแมวไม่รุนแรงส่วนสุนัขไวต่อการติดเชื้อน้อยกว่าและไม่ค่อยแสดงอาการ
เจ้าของสัตว์ที่ติดเชื้อควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสสัตว์ สวมหน้ากากทุกครั้ง หากสัตว์มีอาการควรหลีกเลี่ยงสัมผัส ไม่นำสัตว์ไปบ้านอื่น เจ้าหน้าที่ควรมีระบบที่ใช้แบ่งปันข้อมูลระหว่างสาธารณสุขและบริการสัตวแพทย์เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สัตว์เป็นแหล่งสะสมหรือแพร่เชื้อในระยะยาว
ผู้เรียบเรียง กองบรรณาธิการ
ข้อมูลจาก www.medicalnewstoday.com