การเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของชีวิตและเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดความเครียดที่รุนแรง โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นโรคที่รักษายากและมีพยากรณ์โรคที่ไม่ดีนัก ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความเครียด (stress) มีผลต่อพยากรณ์โรคในภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาว่า การเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดซึ่งเป็นสาเหตุของความเครียดที่รุนแรงนั้น ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่
งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งจัดทำโดย Hua Chen และคณะ ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of American College of Cardiology เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2022 ผู้วิจัยทำการรวบรวมข้อมูลจากทะเบียนผู้ป่วยในประเทศสวีเดนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลว (Swedish Heart Failure Registry) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ถึงปี ค.ศ. 2018 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 490,527 ราย โดยติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 3.7 ปี ผู้วิจัยทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ข้อมูลด้านสังคมวิทยา และปัจจัยด้านสุขภาพ เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านี้ว่าส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยหรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า การเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยถึง 29 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยรายที่ไม่มีการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว และการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวสัมพันธ์กับการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้งจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การเสียชีวิตแบบธรรมชาติ และการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ เช่น การฆ่าตัวตาย การศึกษายังพบว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น 35 เท่า เมื่อมีการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวจำนวน 2 คนเทียบกับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียว ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงสัปดาห์แรกหลังการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวแต่ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยนี้อยู่ได้ยาวนานถึง 5 ปี สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วงแรก คือ stress-induced cardiomyopathy หรือ Takotsubo syndrome ซึ่งเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด รวมถึงมีการกระตุ้นระบบฮอร์โมนต่าง ๆ และระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกาย ส่วนความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในระยะยาวอาจเป็นผลจากความเครียดเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ควบคุมโรคได้ไม่ดีและผู้ป่วยอาจมีวิถีชีวิตที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เป็นที่น่าสังเกตว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยนั้นเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเสียชีวิตของบุตร คู่สมรส/คู่ครอง หลาน และพี่น้อง แต่ไม่รวมถึงบิดา/มารดา สาเหตุอาจเป็นเพราะอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยในงานวิจัยนี้ค่อนข้างมาก (75 ปี) ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าการเสียชีวิตของบิดา/มารดาเป็นวัฎจักรของชีวิต
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งในเพียงสองงานวิจัยที่ศึกษาเฉพาะเจาะจงลงไปถึงพยากรณ์โรคในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในอนาคตควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า สาเหตุของความเครียดที่รุนแรงระดับน้อยลงไปส่งผลต่อพยากรณ์โรคที่ไม่ดีในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยหรือไม่ รวมถึงศึกษาถึงสาเหตุและกลไกความเกี่ยวข้องกัน เพื่อที่จะทำให้เข้าใจและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น
- https://www.medscape.com/viewarticle/977048
- Hua Chen, Dang Wei, Imre Janszky, Ulf Dahlström, Mikael Rostila, Krisztina D. László, Bereavement and Prognosis in Heart Failure: A Swedish Cohort Study. J Am Coll Cardiol HF. Jul 06, 2022. Epublished DOI: 10.1016/j.jchf.2022.05.005