นักวิจัยได้มีการใช้ภาพ MRI ในการ map การทำงานของสมองในด้านการมองเห็น ซึ่งกลายเป็นความหวังใหม่ในการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็นไป หลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
การสูญเสียการมองเห็นชนิดที่เรียกว่า hemianopia เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยเป็นการสูญเสียการมองเห็นชนิดที่เกิดจากความเสียหายของ visual pathway ในสมอง ไม่ใช่ความผิดปกติของดวงตาเหมือนกับโรคตาอื่น ๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตา เป็นต้น ในความเป็นจริงแล้วดวงตายังสามารถมองเห็นได้ แต่สมองไม่สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างปกติ
การวัดลานสายตา หรือ Perimetry เป็นวิธีมาตรฐานในการวัดลานสายตาที่ยังใช้งานได้อยู่ แต่ยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องความครอบคลุม การได้รับความร่วมมือจากคนไข้ การได้ข้อมูลในทางอ้อมถึง visual pathway ที่มีความบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวางแผนการฟื้นฟูการมองเห็นได้นัก ทีมนักวิจัยจาก University of Nottingham ได้ทำการศึกษาโดยการนำข้อมูลจาก Perimetry และข้อมูลจากภาพถ่าย MRI ของสมองคนไข้ที่รอดชีวิตจากจากโรคหลอดเลือดสมอง 4 คนมารวมกัน เพื่อสร้างภาพสมองที่ได้รับผลกระทบจนสูญเสียการมองเห็น การทำเช่นนี้ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบจุดที่ดวงตา และสมองยังสามารถประมวลผลได้อยู่ แม้จะยังไม่สามารถรับรู้ได้ ซึ่งการทำ Perimetry ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทั้งนี้ แพทย์สามารถใช้ MRI เพื่อช่วยในการระบุขอบเขตการมองเห็น และช่วยในการวางแผนฟื้นฟูการมองเห็นแบบเฉพาะบุคคลได้
ผลการวิจัยชิ้นนี้หากมีการนำไปปฏิบัติ อาจสามารถปรับปรุงการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะทางด้านสายตาได้อย่างดี ส่งผลให้การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
ข้อมูลจาก https://www.sciencedaily.com/releases/2022/01/220106105957.htm