ทฤษฎีที่ว่าสังคมสมัยใหม่สะอาดเกินไป ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในเด็กแย่ลง อาจต้องมีการเก็บไว้ก่อน จากผลการศึกษาโดยนักวิจัยจาก UCL และ London School of Hygiene & Tropical Medicine ซึ่งเคยมีสมมติฐานว่าการได้รับจุลินทรีย์บางชนิดในเด็กปฐมวัยช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ โดยมีส่วนในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามมีอีกมุมมองหนึ่งว่า ในศตวรรษที่ 21 นั้นถูกสุขลักษณะเกินไป ซึ่งหมายความว่าเด็กวัยหัดเดินและเด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะได้รับเชื้อโรคน้อยลงในวัยเด็ก ดังนั้นจึงต้านทานการแพ้น้อยลง
Graham Rook ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาทางการแพทย์ได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์ทาง Journal of Allergy and Clinical Immunology ชี้ให้เห็นเหตุผลสำคัญ 4 ประการ ซึ่งเป็นการหักล้างทฤษฎีนี้ โดยการสัมผัสกับจุลินทรีย์ในวัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบภูมิคุ้มกันและเมตาบอลิซึม โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ผิวหนัง และทางเดินหายใจของเราก็มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพ ตลอดชีวิตเราจำเป็นต้องได้รับจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักได้จากมารดาของเรา สมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ในปัจจุบันเรามีการดูแลสุขอนามัยที่ดีขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรค แต่ในทางตรงข้ามก็ยังยับยั้งไม่ให้เราสัมผัสกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์เช่นกัน ซึ่งจากการทบทวนหลักฐานงานวิจัย ชี้ไปที่ปัจจัยสี่ประการ ได้แก่
ประการแรก จุลินทรีย์ที่พบในบ้านยุคปัจจุบันไม่ใช่จุลินทรีย์ที่จำเป็นสำหรับภูมิคุ้มกันในระดับที่มีนัยสำคัญ, ประการที่สอง วัคซีนนอกจากจะปกป้องเราจากการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้นตอนนี้เราจึงรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการสัมผัสกับเชื้อโรค, ประการที่สาม การทำความสะอาดและสุขอนามัยในบ้าน ไม่มีผลต่อการสัมผัสจุลินทรีย์ในธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของเรา เนื่องจากส่วนใหญ่จะพบได้ตามธรรมชาติ มิใช่ในบ้านเรือน และประการสุดท้ายงานวิจัยล่าสุด พบความสัมพันธ์ระหว่างการทำความสะอาดบ้านกับปัญหาสุขภาพ เช่น โรคภูมิแพ้ มักไม่ได้เกิดจากการกำจัดสิ่งมีชีวิต แต่เกิดจากการที่ปอดสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้เกิดความเสียหายประเภทที่กระตุ้นปฏิกิริยาการแพ้
ดังนั้น การทำความสะอาดบ้านและความสะอาดส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ดี แต่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อ จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายไปที่มือและพื้นผิวสัมผัสที่มักเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อ และจำกัดการสัมผัสโดยตรงของเด็กต่อสารทำความสะอาดซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระตุ้นการแพ้ได้ ส่วนการสัมผัสสมาชิกในครอบครัว ธรรมชาติ และวัคซีน มีผลต่อการผลิตจุลินทรีย์ทั้งหมดที่เราต้องการ และการสัมผัสเหล่านี้ไม่ขัดแย้งกับสุขอนามัยหรือการทำความสะอาด
เรียบเรียงโดย พญ. พ.นภัส แสงมณี
ข้อมูลจาก https://www.sciencedaily.com/releases/2021/07/210705094709.htm