การศึกษาพบว่า สตรีที่มีประวัติภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ในอนาคตจะมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดที่การบีบตัวของหัวใจยังปกติ (Heart failure with preserved ejection fraction, HFPEF)
ปัจจุบันมีข้อมูลว่า ปัจจัยจากระบบสืบพันธุ์นั้นเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต แต่เรื่องภาวะมีบุตรยากกับภาวะหัวใจล้มเหลว ยังมีการศึกษาน้อย จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเพื่อศึกษาภาวะหัวใจล้มเหลว ทั้งชนิดที่การบีบตัวของหัวใจยังปกติ (HFPEF) และชนิดที่การบีบตัวของหัวใจลดลง (HFREF) ในสตรีที่มีและไม่มีประวัติเรื่องภาวะมีบุตรยาก
Emily S. Lau และทีมวิจัย ได้ติดตามสตรีวัยหมดประจำเดือน ที่มีอายุเฉลี่ย 63 ปี จำนวน 38,528 ราย จากฐานข้อมูล Women’s Health Initiative (WHI) เพื่อติดตามการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะเวลา 15 ปีต่อมา โดยข้อมูลแรกเข้า การวิจัยพบสตรีจำนวน 5,399 ราย (14%) ระบุว่าตนเองเคยมีภาวะมีบุตรยาก หลังจากการติดตาม 15 ปีต่อมา พบผู้ที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งหมด 2,373 ราย โดยเป็นชนิดการบีบตัวของหัวใจปกติและต่ำ จำนวน 1,133 และ 807 รายตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ให้ประวัติว่าเคยมีภาวะบุตรยากจะพบความสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจล้มเหลวโดยรวมใน 15 ปีต่อมา เป็น 1.16 เท่าของผู้ที่ไม่มีประวัติมีบุตรยาก โดยหากคิดเฉพาะชนิดการบีบตัวของหัวใจปกติจะเป็น 1.27 เท่า แต่ภาวะมีบุตรยากนี้ไม่เพิ่มการเกิดหัวใจล้มเหลวชนิดการบีบตัวของหัวใจต่ำ อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ไม่ได้ศึกษาถึงกลไกของความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ภาวะ
ภาวะมีบุตรยากในสตรีมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคต โดยเฉพาะชนิดการบีบตัวของหัวใจปกติอย่างมีนัยสําคัญ และภาวะมีบุตรยากนี้ยังเป็นอิสระจากปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ทั้งนี้ยังต้องการงานวิจัยที่จะศึกษากลไกที่จะมาสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างภาวะมีบุตรยากและภาวะหัวใจล้มเหลวเพื่อหาแนวทางการป้องกันและรักษาต่อไป
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/972552
2. https://www.jacc.org/doi/10.1016/j.jacc.2022.02.020