โครงการศึกษาวิจัย “LIVE-AIR” ได้ทดลองยา Lenzilumab มาใช้เพิ่มเติมร่วมกับการรักษาประคับประคองแบบมาตรฐาน โดยผลการศึกษาพบว่าสามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตโดยไม่ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจในช่วงระยะเวลา 28 วันแรกในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด 19 เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว
ยา Lenzilumab เป็นยาในกลุ่ม Monoclonal antibody ในออกฤทธิ์ยับยั้ง GM-CSF เช่นเดียวกับยา Mavrilimumab และ Otilimab ซึ่งได้เคยมีการทดลองใช้เพื่อการรักษาในผู้ป่วยโควิด 19 มาก่อน
โครงการศึกษา LIVE-AIR เป็นการศึกษาระยะที่สามโดยศึกษาผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ด้วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด 19 จำนวน 479 คน ซึ่งผู้ป่วยทุกคนที่ศึกษานี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยก๊าซออกซิเจนที่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่ได้ยา Lenzilumab และกลุ่มที่ได้ยาหลอกแบบสุ่ม 1:1 โดยทั้งสองกลุ่มจะได้รับการรักษาประคับประคองแบบมาตรฐานซึ่งรวมไปถึงยา Remdesivir และ Corticosteroids ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับยา Lenzilumab มีอัตราการการรอดชีวิตที่ 28 วันโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่ากลุ่มใช้ยาหลอก (84% vs 78%, HR=1.54, p=0.04) และมีอัตราการใช้ท่อช่วยหายใจลดลงในกลุ่มได้รับยา Lenzilumab เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก (11% vs 20%, HR=0.52, p=0.0059) ในด้านของความปลอดภัยของการใช้ยา กลุ่มที่ได้ Lenzilumab มีอัตราการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงและการติดเชื้อจากเชื้อชนิดที่สองไม่ต่างจากกลุ่มที่ใช้ยาหลอก
การศึกษาประสิทธิภาพของยา Lenzilumab นั้นสะท้อนผลการรักษาที่ให้ผลที่ต่างออกไปจากยา anti-GM-CSF ตัวอื่น ๆ เช่น Mavrilimumab และ Otilimab ซึ่งกลุ่มประชากรในการศึกษาวิจัยเหล่านี้มีอาการที่รุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับประชากรในโครงการศึกษายา Lenzilumab นักวิจัยหลายคนเชื่อว่า การยับยั้ง GM-CSF อาจมีประโยชน์ในการรักษามากกว่าในช่วงระยะแรกของการติดเชื้อ ทั้งนี้การใช้ยา Lenziliumab แทนการใช้ยาควบคุมระบบภูมิคุ้มตัวอื่น ๆ ร่วมกับ steroids ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป
เรียบเรียงโดย นพ. วิชล ลิ้มพัฒนาชาติ
ข้อมูลจาก https://specialty.mims.com/topic/lenzilumab-ups-survival-in-hospitalized-covid-19-patients–