วงการสาธารณสุขในภูมิภาคยุโรป มีความพยายามจะจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ให้ได้มากที่สุดตามเป้าหมายที่วางไว้จาก WHO โดยการใช้ยา Preexposure prophylaxis (PrEP) ที่สามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้น และยังมีประสิทธิภาพในการกดปริมาณไวรัส มาใช้ในการควบคุมป้องกันการติดเชื้อของประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อปี 2020 องค์การสหประชาชาติ มีนโยบาย Joint United Nations Programme on HIV/AIDS (UNAIDS) ซึ่งต้องการบรรลุเป้าหมาย 90 – 90 – 90 กล่าวคือ ร้อยละ 90 ของผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV จะต้องทราบสถานะการติดเชื้อของตัวเอง ร้อยละ 90 ของผู้ที่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และร้อยละ 90 ของผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ต้องสามารถกดปริมาณไวรัส จนตรวจไม่พบ และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
อย่างไรก็ตาม จากสถิติของภูมิภาคยุโรปในปี 2022 กลับพบว่า มีร้อยละ 72 ของประชากรประมาณ 3 ล้านคนที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ที่ทราบสถานะการติดเชื้อของตัวเอง มีร้อยละ 63 ที่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อและได้รับการรักษา และมีร้อยละ 60 ที่สามารถกดปริมาณไวรัสได้ตามเป้าหมายหลังการรักษา เกิดความท้าทายต่อวงการสาธารณสุขในภูมิภาคยุโรป ซึ่งกำลังดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 95 – 95 – 95 ในปี 2025 และกำจัดโรคเอดส์ให้หมดในปี 2030 สำหรับยา Preexposure prophylaxis หรือ PrEP มีความสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของไวรัส HIV โดยเมื่อเดือนกันยายน 2023 ที่ผ่านมา คณะกรรมการยุโรปได้อนุมัติยา Apretude (Long-acting cabotegravir) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก FDA สหรัฐอเมริกาไปแล้วตั้งแต่ปี 2021 และตามด้วยคำแนะนำในปี 2022 จากองค์การอนามัยโลกที่สนับสนุนให้ใช้ยานี้ในการป้องกันเชื้อ HIV เนื่องจากปลอดภัย มีประสิทธิภาพดี และสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนาน โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก HPTN 084 ซึ่งได้แสดงประสิทธิภาพของ long-acting cabotegravir ที่ใช้วิธีฉีด 6 ครั้งต่อปี เหนือกว่าการรับประทาน emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate วันละครั้ง นอกจากนี้ ผลจาก CARISEL trial ก็พบว่า ยาสูตร long-acting cabotegravir และ rilpivirine สามารถกดปริมาณไวรัสได้ตามเป้าหมายในอาสาสมัครร้อยละ 87 ที่เข้าร่วมการศึกษา
แม้วงการสาธารณสุขจะมีความหวังจากยาชนิดใหม่ในการต่อสู้กับเชื้อ HIV ทว่ายังมีความท้าทายรออยู่เบื้องหน้า อาทิ การเข้าถึงยาสูตรใหม่ของผู้ติดเชื้อและผู้ร่วมอาศัย โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มย่อยต่าง ๆ เนื่องจากอุปสรรคทางเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการต่อไป
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/998937