การศึกษาเกี่ยวกับการจัดการภาวะความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์พบว่า การควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และไม่ทำให้ทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อีกด้วย
ภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดผลเสียตามมาได้มาก ทั้งภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง การคลอดก่อนกำหนด ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ทั้งกับมารดาและทารก ฉะนั้นการควบคุมความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ปัจจุบันแนวทางการควบคุมความดันโลหิตในระหว่างตั้งครรภ์ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในระดับที่ไม่รุนแรง (ความดันโลหิตไม่เกิน 160/100 มม.ปรอท) ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และยังไม่มีการศึกษาผลดีและผลเสียในการควบคุมความดันในผู้ป่วยกลุ่มนี้
การศึกษา Chronic Hypertension and Pregnancy trial, CHAP trial ที่ตีพิมพ์ใน NEJM เมษายน 2022
เป็นการศึกษาถึงภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ของหญิงที่มีภาวะความดันโลหิตสูงระดับไม่รุนแรง ที่ได้รับยาลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาลดความดัน โดยมีการรวบรวมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงระดับไม่รุนแรง และเป็นการตั้งครรภ์เดี่ยว ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 23 สัปดาห์ รวม 2,408 ราย ซึ่งเมื่อศึกษาเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มแล้ว พบว่าอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่าตั้งครรภ์ คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง การคลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 35 สัปดาห์) ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และการเสียชีวิตของทารกในครรภ์และขณะคลอด ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาควบคุมความดัน และเมื่อเปรียบเทียบด้านความปลอดภัยในการใช้ยาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท มีอัตราการให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ไม่แตกต่างไปจากกลุ่มที่ไม่ได้รับยา
การศึกษานี้ พบว่าการควบคุมความดันโลหิตในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงระดับไม่รุนแรงนั้น ได้ประโยชน์ในแง่ของการลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นทั้งกับแม่และลูก รวมทั้งมีความปลอดภัยในการรักษา ไม่ทำให้ทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อีกด้วย ซึ่งหากมีการศึกษาต่อยอดขึ้นจากงานวิจัยนี้ ก็อาจนำไปสู่แนวทางเวชปฏิบัติใหม่ ๆ ในการควบคุมความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก
- https://specialty.mims.com/topic/mild-chronic-hypertension-in-pregnancy
- https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2201295