การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนนั้น มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสารตั้งต้นของการเกิดหลอดเลือดแข็งตัวหรือไขมันอุดตันหลอดเลือด การศึกษาใหม่พบว่า ระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยทองสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพระบบหัวใจและหลอดเลือดของสตรีต่อไป
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงที่สตรีเข้าสู่วัยทองอาจส่งผลความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดแข็งทั้งผลโดยตรง หรือโดยอ้อมผ่านทางการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมัน Cholesterol ในเลือด นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่อไป นี่เป็นการศึกษาแรกที่จะวัดความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศหญิง และยังชี้ให้เห็นว่าการใช้ฮอร์โมนทดแทนจะมีผลต่อระดับไขมันอย่างไร
Jari E. Karppinen และคณะจากประเทศฟินแลนด์ได้ทำการวิจัยเปรียบเทียบสารต่าง ๆ ในเลือดของสตรีที่กำลังจะหมดประจำเดือนจากการบันทึกประจำเดือน และวัดฮอร์โมนเพื่อยืนยันการเข้าสู่วัยทอง จำนวน 218 ราย และติดตามเฉลี่ยเป็นเวลานาน 14 เดือน โดยเป็นผู้ที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติและไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน 183 ราย และผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง estrogen ทดแทน 35 ราย ผลพบกลุ่มที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนมี ApoB เพิ่มขึ้น 7%, ไขมัน LDL cholesterol และ LDL particle เพิ่มขึ้น 11% และ 9% ตามลำดับ, VLDL particle เพิ่มขึ้น 4%, Triglyceride เพิ่มขึ้น 3%, citrate ลดลง 5%, และ ketone ลดลง 4% ส่วนกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนจะมีระดับ HDL ขนาดกลางและใหญ่มากขึ้น และระดับ LDL ขนาดเล็กและกลางลดลง และพบว่าการลดลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง estrogen มีผลกระทบต่อไขมันมากกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมน FSH ในวัยทอง
ระดับฮอร์โมนเพศหญิงเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของไขมันหลายชนิด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของสตรีวัยที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน ถึงแม้ว่าการหมดประจำเดือนนั้นเป็นภาวะธรรมชาติของสตรี แต่การศึกษานี้อาจจะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยทองต่อไป
- https://www.medscape.com/viewarticle/974220#vp_1
- https://academic.oup.com/eurjpc/advance-article/doi/10.1093/eurjpc/zwac060/6580397?login=false