นักวิจัยตรวจพบ DNA ของไวรัสฝีดาษลิงในน้ำอสุจิของผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดในยุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เกิดเป็นสมมติฐานว่า ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่
เป็นที่ทราบกันว่าโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากทางเดินหายใจและสารคัดหลั่งแผลผิวหนัง จากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดี การระบาดครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ตลอดจนประเทศในภูมิภาคอื่นรวมกว่า 30 ประเทศทั่วโลก พบว่าในผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1,300 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายผู้มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men)
การระบาดครั้งนี้เกิดนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เป็นแหล่งระบาดของโรค และไม่พบความเชื่อมโยงกับประวัติการเดินทางแต่อย่างใด ทำให้หน่วยงานทางสาธารณสุขต่างมีความกังวลและต้องการสืบสวนวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดลักษณะนี้ รวมถึงตอบคำถามที่ว่า ตัวไวรัสเองได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยหรือไม่อย่างไร
ล่าสุด นักวิจัยพบหลักฐานของ DNA ของไวรัสฝีดาษลิงในน้ำอสุจิมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยพบผลบวกในผู้ติดเชื้อจำนวน 4 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของประเทศอิตาลี โดยตรวจพบในช่วงระหว่างวันที่ 5-9 นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนในขณะนี้ว่า ลักษณะการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงได้เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ หรือสามารถจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ เฉกเช่นไวรัสเอชไอวี แบคทีเรียก่อโรคซิฟิลิส หรือหนองในต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากการค้นพบที่อิตาลี นักวิจัยจากเยอรมันได้รายงานการพบ DNA ของไวรัสฝีดาษลิงในน้ำอสุจิของผู้ติดเชื้อ 2 รายเช่นเดียวกัน หากแต่ในรายงานนี้ก็ไม่ได้ยืนยันเช่นกันว่า ไวรัสที่พบนั้นยังคงคุณสมบัติการแพร่เชื้อได้อยู่หรือไม่ ทั้งนี้ ในน้ำอสุจิ สามารถพบไวรัสหลายชนิดถ้ามีการติดเชื้อ อาทิ ไวรัสซิก้า แต่การเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด
นักวิจัยให้ความเห็นโดยสรุปว่า แม้เป็นที่สงสัยว่าเชื้อไวรัสฝีดาษลิงอาจสามารถแพร่ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่หลักฐานสนับสนุนยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ รายงายผู้ป่วยทั้งหมด เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การออกแบบงานวิจัยเพื่อตอบคำถามนี้ต่อไป
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/975475
2. https://www.eurosurveillance.org/content/10.2807/1560-7917.ES.2022.27.22.2200421
3. https://www.researchsquare.com/article/rs-1725831/v1