ผู้เชี่ยวชาญในประเทศสหรัฐอเมริกาเตือนบุคลากรทางแพทย์ให้เตรียมรับมือป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษลิง ซึ่งเริ่มแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปี 2022 นี้
ไวรัสฝีดาษลิง จัดอยู่ในกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งรวมถึงไวรัสฝีดาษ (smallpox) และฝีดาษจากวัว (cowpox) โดยปกติไวรัสชนิดนี้แพร่เชื้อประจำถิ่นในแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก อาจพบระบาดออกมานอกทวีปบ้างประปราย ซึ่งแตกต่างจากการระบาดครั้งล่าสุดในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่ปัจจุบันยังไม่พบว่าการระบาดสัมพันธ์กับการเดินทางมาจากแหล่งโรคประจำถิ่นแต่อย่างใด และในต้นเดือนมิถุนายน 2022 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 1,300 ราย ใน 6 ทวีปทั่วโลก
แม้ขณะนี้ การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง จะถือว่าไม่หนักเมื่อเทียบกับโรคโควิด-19 เนื่องจากลักษณะเฉพาะของไวรัส แต่บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความตื่นตัวที่จะป้องกันตัวเองจากการอาจได้สัมผัสผู้ป่วยต้องสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยันโรคในภาวะการระบาดรอบนี้ และระมัดระวังการแปะป้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men – MSM) ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในการระบาดครั้งล่าสุด
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health Clinical Center) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษลิง ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) โดยแนวทางเวชปฏิบัติดังกล่าว ได้แนะนำให้บุคลากรสวมใส่ Personal protective equipment (PPE) ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่เหมาะสม ระมัดระวังหัตถการที่ก่อให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก (Aerosolization) และทำการติดตามผู้สัมผัสโรคเพื่อควบคุมการระบาด
นอกจากนี้ การบริหารจัดการในโรงพยาบาลเมื่อเกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิง ยังรวมถึงการบริหารบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ขาดแคลนดังเช่นสมัยการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย เนื่องจากโรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวนานถึง 21 วัน CDC จึงไม่แนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อกักตัวถึง 21 วัน หากแต่ให้ใช้วิธีติดตามอาการเชิงรุกจากผู้สัมผัสโรค (Active surveillance) หมายรวมถึงการวัดอุณหภูมิกายทุกวันทั้งเช้าและเย็น และรายงานอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละวันต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในองค์กร เป็นเวลา 21 วัน แทน
ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ที่ตรากตรำมานานกับการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด 19 การระบาดของโรคฝีดาษลิงที่ตามมานี้ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการป้องกันควบคุมโรคอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าเพิ่มมากไปกว่านี้
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/975540
2. https://www.acpjournals.org/doi/10.7326/M22-1763