จากการศึกษาพบว่า การฉีดยาโมโนคลอนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibodies) ชนิด Casirivimab-imdevimab เข้าใต้ผิวหนัง ให้แก่ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีความรุนแรงไม่มาก และได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก สามารถให้ผลลัพธ์ดีไม่แตกต่างจากการให้ยาทางเส้นเลือดดำ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในการให้บริการของโรงพยาบาล มีการศึกษาถึงวิธีการบริหารยาโมโนคลอนอลแอนติบอดี ชนิด Casirivimab-imdevimab เปรียบเทียบระหว่างการฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ (intravenous infusion) ตามเวชปฏิบัติเดิม ซึ่งต้องใช้เวลาให้ยานานถึง 30 นาที กับการให้ยาโดยวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) และวัดผลการวิจัยที่ 28 วัน
Erin K. McCreary และทีมงานจากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ทำการศึกษาการบริหารยา casirivimab-imdevimab ในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ความรุนแรงระดับน้อยถึงปานกลาง จากแผนกผู้ป่วยนอก จำนวน 1,959 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาทางใต้ผิวหนังจำนวน 969 คน และทางเส้นเลือดดำจำนวน 1,216 คน โดยมีกลุ่มควบคุมเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาดังกล่าวอีก 1,306 คน จากการติดตามพบว่า ที่ 28 วัน กลุ่มที่ได้รับยาทางใต้ผิวหนังและกลุ่มที่ได้รับยาทางเส้นเลือดดำ มีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 3.4% และ1.7% ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างกันมาก ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับยามีอัตราดังกล่าวสูงถึง 7% เรียกได้ว่ามีโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือตายมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า การฉีดยาทางใต้ผิวหนังจะช่วยลดความซับซ้อนของการให้ยา ลดความสิ้นเปลืองจากการใช้วัสดุอุปกรณ์ ลดระยะเวลาการรักษาและการให้บริการของบุคลากรในสถานพยาบาลได้ดี
ข้อมูลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็น การบริหารยาโมโนคลอนอล แอนติบอดี ชนิด Casirivimab-imdevimab โดยวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยโควิด 19 ในแผนกผู้ป่วยนอก
ข้อมูลจาก
- https://www.medscape.com/viewarticle/972076
- https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2790990