การศึกษาติดตามผลในผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีการวัดค่าต่าง ๆ ของ monocyte จำนวน 3 การศึกษา พบว่า ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น, monocyte ชนิด classical subtype และความผิดปกติกลไกควบคุมบางกลไก ส่งผลต่อโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น
กลไกสำคัญการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ การมีตะกรันไขมัน เกิดจาก LDL ที่เปลี่ยนไปเป็น Oxidized LDL และถูกจับกินและสะสมโดยเซลล์มาโครฟาจ แล้วฝังตัวอยู่ในชั้นผิวของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพบว่า เซลล์มาโครฟาจนี้มีที่มาจากเซลล์เม็ดเลือด monocyte ในกระแสเลือด จึงมีความพยายามที่จะหาความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ monocyte กับการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงสูง คือ เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ที่มีการอักเสบหลอดเลือดผ่านทาง monocyte เช่นกัน
บทความวารสารได้รวบรวมผลสรุปจากงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ monocyte ในกระแสเลือดและความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 3 งานวิจัยหลัก คือ AngioSafe-2 จำนวน 672 ราย, GLUTADIAB จำนวน 279 รายและ SURDIAGENE จำนวน 757 ราย
โดยการศึกษาทั้งสามมีการวัดค่าปริมาณ monocyte ในเลือด โดยเกณฑ์ที่จัดว่าสูง คือ มากกว่า 0.5×10^9 /L และมีการจำแนกชนิดของ monocyte ทั้ง 3 ชนิดว่าชนิดใดสัมพันธ์กับโรคหัวใจมากกว่า โดยการจำแนกทั้ง 3 ชนิดแบ่งเป็น classical subtype, intermediate subtype และ non-classical subtype โดยใช้ cluster of differentiation CD45, CD16 และ CD14 เป็นตัวแบ่งกลุ่ม
สำหรับการศึกษา GLUTADIAB และ SURROGENE จะลงรายละเอียดถึงยีนที่ควบคุมกลไกการทำงานของ monocyte ซึ่งมีบทพิสูจน์ว่าสัมพันธ์กับการเกิดตะกรันหลอดเลือดหัวใจ กลไกนั้น คือ TCA dysregulation และ mitochondrial OxPhos dysregulation
ผลการศึกษาทั้ง 3 พบว่า หากปริมาณ monocyte มากกว่าเกณฑ์จะเพิ่มการเกิดโรคหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ ในการติดตามประมาณ 10 ปี การศึกษา SURROGENE ระบุตัวเลขที่สูงกว่าถึง 7 – 9 เท่า ส่วนการศึกษา AngioSafe-2 พบว่า ปริมาณ monocyte ที่เพิ่มสัมพันธ์กับ coronary calcium score ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
และพบว่า classical subtype ของ monocyte เท่านั้นที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับ subtypes ที่เหลือพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มจริงแต่ยังไม่มีนัยสำคัญ
กลไกการควบคุมเมตาบอลิซึมหลายชนิดในเซลล์ ก็ได้รับการวิเคราะห์ พบว่า ความผิดปกติของยีนที่ควบคุม tricarboxylic acid cycle และความผิดปกติของยีนควบคุม mitochondrial oxidation phosphorylation’s complex ทั้ง 2 อย่างนี้สัมพันธ์กับโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น
งานวิจัยทั้ง 3 ได้พิสูจน์ทฤษฎีว่าการอักเสบที่ผ่านทาง monocyte มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถใช้เพื่อคาดการณ์โรคหัวใจได้ แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาตัดขวางระยะสั้น และยังไม่สามารถควบคุมปัจจัยการอักเสบอื่นที่ผ่านกลไก monocyte ได้ จึงยังต้องรอผลเพิ่มเติมในการศึกษาขนาดใหญ่กว่านี้
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช
ข้อมูลจาก Circ Res. 2024 Jan 19;134(2):189-202. doi: 10.1161/CIRCRESAHA.123.322757. Epub 2023 Dec 28. PMID: 38152893.