งานวิจัยพบว่า ระยะเวลาระหว่างการสัมผัสเชื้อ ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อโควิด หากมีระยะเวลานาน จะทำให้การเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีมากกว่าระยะเวลาสั้น และคนที่เคยติดเชื้อโควิด เมื่อได้รับวัคซีนจะมีแอนติบอดีสูงกว่า คนที่ไม่เคยติดเชื้อ
ในหลายประเทศ ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 2 โดส และบางคนมีการติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญจึงสนใจว่า การสัมผัสเชื้อหลายครั้ง ทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ และระยะเวลาระหว่างการสัมผัสเชื้อแต่ละครั้ง จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันอย่างไร
งานวิจัยในสหราชอาณาจักร ศึกษาการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดี หลังฉีดวัคซีน Pfizer (BNT162b2) 2 โดส โดยเปรียบเทียบระยะเวลาระหว่างวัคซีน 2 โดส พบว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ช้า (ห่างจากโดสแรก อย่างน้อย 10 อาทิตย์) จะมีระดับแอนติบอดีสูงกว่า กลุ่มที่ฉีดวัคซีนโดสที่ 2 เร็ว (ห่างจากโดสแรก 2 – 4 อาทิตย์) ถึง 9 เท่า อีกงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน NEJM เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าคนที่เคยติดเชื้อโควิด เมื่อได้รับวัคซีน จะมีแอนติบอดีสูงกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ 10 เท่าเมื่อได้รับวัคซีน 1 โดส และ 2.5 เท่าเมื่อได้รับวัคซีน 2 โดส อีกงานวิจัยหนึ่ง พบว่า ในคนที่เคยติดเชื้อ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนช้า (9 เดือนหลังติดเชื้อ) จะมีระดับแอนติบอดีสูงกว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเร็ว (3 เดือนหลังติดเชื้อ) อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า แอนติบอตีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน และมีงานวิจัยที่พบว่าระยะห่างระหว่างวัคซีน ไม่มีผลต่อการติดเชื้อ เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้เกิดการติดเชื้อในคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว และการติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ทำให้บางคนสัมผัสเชื้อบ่อยและถี่มาก อาจมากถึง 5 – 6 ครั้งต่อปี จากเหตุการณ์นี้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจถึงผลต่อภูมิคุ้มกัน
โดยสรุป การเพิ่มขึ้นของแอนติบอดี ขึ้นกับปัจจัย 2 อย่าง คือ 1. จำนวนครั้งของการสัมผัสเชื้อ ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อโควิด และ 2. ระยะเวลาระหว่างการสัมผัสเชื้อในแต่ละครั้ง คนที่เคยติดเชื้อโควิด เมื่อได้รับวัคซีน ระดับแอนติบอดีจะสูงกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
เรียบเรียงโดย พญ. เชิญขวัญ ฐิติรุ่งเรือง
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/972647#vp_1