ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension หรือ PH) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มีการทำงานของร่ายกายที่แย่กว่าและอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic pulmonary arterial hypertension หรือ IPAH) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจตอบสนองต่อการรักษา และมีอาการแสดงที่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษา
คาร์มีน ดาริโอ วิซซาและเพื่อนร่วมงาน ประเมินผู้ป่วยในฐานข้อมูลและทำการวิจัย โดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH รุนแรงปานกลาง 68 ราย และ ผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH รุนแรงมาก 307 ราย กับผู้ป่วยที่มีภาวะ IPAH 307 ราย โดยที่กลุ่มผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH จะใช้การรักษาด้วยยาหลัก คือ Phosphodiesterase-5 inhibitors ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะ IPAH จะได้รับ Endothelin receptor antagonists
ในการทดสอบสมรรถนะทางกาย กลุ่มผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH มีแนวโน้มที่จะมีสมรรถนะที่แย่กว่า ในการทดสอบด้วยวิธีการเดินให้ได้ระยะทางมากที่สุดในเวลา 6 นาที (6-minute walking distance หรือ 6MWD) และมีแนวโน้มที่จะถูกจัดอยู่ใน World Health Organization functional class (WHO FC) กลุ่มที่อาการแย่กว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะ IPAH ด้วย
ผลการศึกษา พบว่า 46.9% ของผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH มีสมรรถนะทางร่างกายที่ดีขึ้นกว่าตอนแรก ซึ่งใกล้เคียงกันกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะ IPAH ที่มีสมรรถนะทางร่างกายดีขึ้น 52.6% ทดสอบด้วย 6MWD สำหรับผลของการประเมิน WHO FC พบว่า 28.5% ของกลุ่มผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH และ 35.8% กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะ IPAH อยู่ในกลุ่ม WHO FC ที่มีอาการดีขึ้น 1 Class หรือมากกว่า
จากข้อมูลการศึกษา การรักษาด้วยยาที่มุ่งเป้าไปที่ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (PH) ในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้องรัง (COPD) อาจช่วยให้สมรรถนะทางร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้น รวมถึงอยู่ใน WHO FC กลุ่มที่มีอาการดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วย COPD ที่มีภาวะ PH ที่ตอบสนองต่อการรักษาอาจมีการพยากรณ์โรคที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยนี้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปอีกในอนาคต
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/956876