การศึกษาการตายจากการติดเชื้อในทารกแรกเกิด (Neonatal sepsis) ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางจากหลายทวีป พบอัตราการตายสูงถึง 1 ใน 5 จากปัญหาเชื้อดื้อยามากขึ้น และพบภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาทและพัฒนาการของทารกที่รอดชีวิตด้วย
ปัญหาเชื้อดื้อยาส่งผลกระทบต่อการจัดการสาธารณสุขทั่วโลก รวมถึงการรักษาภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายลำดับต้น ๆ ในประชากรเด็กทั่วโลก เป้าหมายของการรักษาภาวะนี้ไม่เพียงแต่เพื่อลดอัตราการตายของทารก แต่ยังต้องคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาในระยะยาว ตลอดจนคุณภาพชีวิตของทารกเมื่อหายจากภาวะนี้ด้วย
งานวิจัย NeoAMR Global Neonatal Sepsis Observational Study, NeoOBS ในทารกแรกเกิดที่ได้รับการรักษาภาวะติดเชื้อจำนวนกว่า 3,200 คน จากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง 11 ประเทศในหลายทวีป ช่วงปี ค.ศ. 2018-2020 โดยเก็บข้อมูลยาปฏิชีวนะที่ใช้ การดื้อยาของเชื้อที่เป็นสาเหตุ และผลลัพธ์หลังการรักษา การวิเคราะห์ข้อมูลพบอัตราการตายเฉลี่ยเมื่อผลเพาะเชื้อในเลือดเป็นบวกถึงร้อยละ 18 และผู้ป่วยร้อยละ 59 ได้รับเชื้อจากในโรงพยาบาล (Hospital-acquired infection) โดยเชื้อสาเหตุอันดับหนึ่ง คือ Klebsiella pneumoniae ซึ่งดื้อต่อยาฆ่าเชื้อหลายขนาน ทั้งนี้ แพทย์มีแนวโน้มใช้ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Carbapenems และ Polymyxins ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะด่านสุดท้ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางในทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกาและอเมริกาใต้ ที่มีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ด้อยกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูง งานวิจัยยังพบทารกแรกเกิดที่มีภาวะติดเชื้อร้อยละ 15 ได้รับยาต้านจุลชีพด่านสุดท้ายสำหรับเชื้อดื้อยา แทนที่จะเป็นยามาตรฐานดัง เช่น Ampicillin และ Gentamicin ซึ่งมีผู้ป่วยทารกแรกเกิดเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ที่ได้รับยาด่านแรกนี้ และเมื่อติดตามทารกที่รอดชีวิตหลังการรักษา พบว่าทารกส่วนหนึ่งมีปัญหาพัฒนาการและระบบประสาทในระยะยาวอีกด้วย โดยคณะวิจัยกำลังวางแผนทำการศึกษา เพื่อค้นหาสูตรการรักษาภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลการรักษา
จากการศึกษา NeoOBS ชี้ให้แพทย์ตระหนักถึง ผลกระทบจากการใช้ยาและปัญหาเชื้อดื้อยาในทารกแรกเกิด ที่นำไปสู่อัตราการตายที่สูงขึ้น รวมถึงผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและพัฒนาการในภายหลังด้วย
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/973236