หลายหน่วยงานสุขภาพในสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับเกณฑ์อายุที่เริ่มคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากเดิมเริ่มที่อายุ 50 ปี สำหรับทุกคนที่ไม่มีความเสี่ยงเพิ่มพิเศษ ลดลงมาเป็นเริ่มที่อายุ 45 ปี เนื่องจากเริ่มพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุน้อยลง ผู้วิจัยได้วิจัยหลักฐานมาสนับสนุน โดยรวบรวมจากฐานข้อมูลการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ พบว่าความชุกของการเกิดเนื้อร้ายในคนอายุ 40 – 45 ปีอยู่ที่ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับอายุ 50 – 55 ปีอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งไม่ต่างกันอย่างมากมาย จึงน่าจะคัดกรองในคนอายุน้อยลง
คำแนะนำการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเกิดมะเร็งเพิ่มกว่าปกติ คือเริ่มที่อายุ 50 ปีโดยมีวิธีตรวจอุจจาระ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ หรือการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ด้วยการตรวจต่าง ๆ นี้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลงได้มากและตรวจจับมะเร็งในระยะต้นได้ดีขึ้น และปัจจุบันเมื่อการเข้าถึงการส่องกล้องลำไส้ใหญ่มากขึ้น จึงเริ่มพบมะเร็งลำไส้ในคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี แต่ยังไม่มีข้อมูลความชุกที่มีขนาดใหญ่พอที่จะแสดงข้อมูลมะเร็งในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี
ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากฐานบันทึกการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ด้วยสาเหตุใด ๆ ในปี 2010 – 2020 จำนวนเกือบสี่ล้านคน มีเพียง 3.3% เท่านั้นที่ทำในผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี (ส่วนมากเป็นผู้ที่มีอาการผิดปกติระบบทางเดินอาหาร) เมื่อทำการวิเคราะห์ในกลุ่มอายุ 50 – 54 มีความชุกการเกิดเนื้อร้าย 6.2% ส่วนในกลุ่มอายุเป้าหมายคือ 45 – 49 ปี พบว่าความชุกการเกิดเนื้อร้ายอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก โอกาสการเกิดเนื้อร้ายที่ไม่ต่างกันมากน่าจะสนับสนุนการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อายุน้อยลง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มคนอายุน้อย แต่อาจต้องระวังการใช้ข้อมูลชุดนี้เนื่องจากส่วนมากทำในกลุ่มคนเชื้อชาติผิวขาว ข้อมูลไม่ชัดในกลุ่มผิวสีและชาวเอเชีย และเก็บข้อมูลจากคนที่มีความผิดปกติจนต้องมาส่องกล้อง จึงอาจไม่ตรงกับข้อมูลของคนปรกติทั่วไป อันเป็นเป้าหมายของการคัดกรอง
จากข้อมูลการพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอายุน้อยลง ต้องตระหนักโรคนี้เพิ่มขึ้นในคนอายุน้อย และจากข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์ฐานข้อมูลชุดนี้ ผู้วิจัยสนับสนุนการคัดกรองลำไส้ในคนที่ไม่มีความเสี่ยงพิเศษใด ตามมาตรฐานเดิมที่อายุ 50 ปีลดลงมาที่อายุ 45 ปี ตามที่สมาคมวิชาชีพโรคทางเดินอาหารหลายสมาคมในสหรัฐอเมริกาได้นำเสนอขึ้นมา
- https://www.medscape.com/viewarticle/975407
- https://www.gastrojournal.org/article/S0016-5085(22)00527-3/pdf#relatedArticles