กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโอกาสสูงที่จะขาดนัดหรือถูกเลื่อนนัดตรวจกับแพทย์จากปัญหาโควิด 19 ระบาด มีอัตราการเสียชีวิตและผลการรักษาโรคที่ไม่ดีสูงขึ้น โดยผู้ป่วยที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีการเลื่อนการพบแพทย์ตามตารางปกติออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยสูงอายุบางส่วนไม่ได้มาพบแพทย์ ทั้งจากการที่ผู้ป่วยกลัวการติดเชื้อขณะมาโรงพยาบาลและบางส่วนถูกเลื่อนนัดจากแพทย์ออกไป ประกอบกับมีการใช้ระบบ Telehealth มากขึ้น ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบ 41% ของผู้ป่วยวัยสูงอายุถูกเลื่อนการรักษา ทำให้มีข้อกังวลผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
Maureen Smith จาก Madison School of Medicine and Public Health และทีมงาน ได้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจำนวน 14,406 คน ซึ่งมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างน้อย 2 โรค เปรียบเทียบกับผู้ป่วยจำนวนเดียวกัน ย้อนหลังไป 1 ปี ก่อนหน้า และกำหนดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การรักษาถูกเลื่อนออกไป 13 อย่าง ซึ่งรวมถึง โรคประจำตัวเดิม, ภาวะชราภาพ, การไม่สามารถใช้ระบบ Telehealth, ประวัติการเข้ารับการรักษาตัวฉุกเฉินช่วงที่ผ่านมา, ประวัติการขาดนัดในอดีต และมีผลชี้วัดจากการศึกษา ได้แก่ อัตราการเสียชีวิต จำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล การใช้สิทธิเบิกจ่าย Medicare และจำนวนครั้งในการเข้าพบแพทย์ในแผนกผู้ป่วยนอกและแบบ Telehealth ผลที่ได้พบว่า จากจำนวนผู้ป่วย 1000 คน ผู้ป่วยร้อยละ 25% ของกลุ่มที่นำมาศึกษามีจำนวนปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 4 ข้อ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น 19 คน (95% CI , 4 – 32) จำนวนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและจำนวนการนัดตรวจติดตามแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มสูงขึ้น (496 ครั้ง และ 1578 ครั้ง ตามลำดับ)
จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกเลื่อนนัด การได้รับการประสานงานหรือจัดการเพื่อให้ได้รับการรักษาแบบจริงจังเป็นสิ่งที่ควรทำ
ข้อมูลจาก https://agsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/jgs.17722?campaign=wolearlyview