มาตรฐานการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อในปัจจุบันไม่ได้กำหนดไว้เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ จึงมีนักวิจัยทำการทบทวนตรวจสอบตัวชี้วัดทางชีวภาพจาก genomics, transcriptomics, proteomics และ metabolomics เพื่อเพิ่มความจำเพาะและความไวของการทำนายภาวะติดเชื้อ เพื่อวินิจฉัยโรคได้ทันท่วงทีและให้การรักษาที่แม่นยำ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในเด็ก
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่คุกคามถึงชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อรุนแรง ภาวะติดเชื้อขั้นรุนแรง (severe sepsis) และภาวะช็อกจากภาวะติดเชื้อ (septic shock) เป็นการดำเนินโรคของภาวะติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานล้มเหลวของอวัยวะหลายระบบ และนำไปสู่การเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในเด็กอยู่ระหว่าง 4% ถึง 50% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเจ็บป่วย ปัจจัยเสี่ยงและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความเสี่ยงต่อการเกิดซ้ำหลังจากรอดจากภาวะติดเชื้อรุนแรงจะสูงมากในกรณีส่วนใหญ่
ความท้าทายประการหนึ่งในการรักษาภาวะติดเชื้อ คือ การขาดการวินิจฉัยที่ทันท่วงที เด็กที่ไม่มีอาการ สามารถแสดงอาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็วภายใน 36 – 72 ชั่วโมง แนวทางปฏิบัติในปัจจุบันอาศัยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในวงกว้าง เช่น CRP ( C-reactive protein เป็นเครื่องหมายการอักเสบ), PCT (procalcitonin เป็นโปรฮอร์โมน) และแลคเตต (lactate) เพื่อตรวจหาภาวะติดเชื้อ แต่ไม่มีการทดสอบวินิจฉัยที่สามารถตรวจพบภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้อย่างน่าเชื่อถือ การทบทวนวรรณกรรมนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatric Investigation ได้จำแนกตัวบ่งชี้ทางชีวภาพอย่างเป็นระบบตามระยะการดำเนินโรคของภาวะติดเชื้อในตัวอย่างผู้ป่วย และให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านการวิจัยในระดับต่าง ๆ โดยผู้เขียนเน้นย้ำว่าการระบุภาวะติดเชื้อ การรักษาอย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงของภาวะติดเชื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์โรคที่ดี เทคโนโลยีการทำโปรไฟล์ Multi omics ซึ่งรวมถึง genomics, transcriptomics, proteomics และ metabolomics ถูกนำมาใช้เพื่อระบุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เชื่อถือได้ บทสรุปที่รวมกันมีดังต่อไปนี้: genomics เจาะลึกความแปรผันทางพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับความไวต่อการติดเชื้อ โดยเน้นที่ยีนต่าง ๆ ของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิ (primary immunodeficiency disease ; PID) ควบคู่ไปกับความหลากหลายในยีน เช่น PAI-1 และ CD143 , Transcriptomics มุ่งเน้นไปที่รูปแบบการถอดรหัสพันธุกรรมของ mRNA หรือ miRNA บางตัว สำหรับ proteomics พบว่า การคัดกรอง IL-27 ร่วมกับ procalcitonin ช่วยเพิ่มความสามารถในการคาดการณ์ของการคัดกรองภาวะติดเชื้อ และ metabolomic เป็นการศึกษาสารเคมีที่เซลล์ปล่อยออกมาในระหว่างกระบวนการทำงานของเซลล์ เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ คล้ายกับ Lactate ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาทิ 2-hydroxybutyrate, 2-hydroxy isovalerate, creatine และ glucose ล้วนเป็นสารเมตาโบไลต์ทั่วไปที่อาจตรวจระดับความรุนแรงของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางชีวภาพที่อาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเหล่านี้ ยังคงต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องในกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมากในอนาคต
ความสำคัญของการหาตัวชี้วัดทางชีวภาพสำหรับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นไปเพื่อช่วยในการตรวจหากลุ่มอาการการติดเชื้อ ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินโรคของภาวะติดเชื้อ และเน้นย้ำถึงความอ่อนแอของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจพบภาวะติดเชื้อตั้งแต่แรกเริ่ม สามารถช่วยในการรักษาแบบตรงจุดได้ มากกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ไวรัส หรือเชื้อราในวงกว้าง เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาและการเกิดเชื้อดื้อยา แต่การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นแนวทางถึงการหาตัวชี้วัดในอนาคตเนื่องจากผลการตรวจบางอย่างอาจทำไม่ได้ในทุกสถานพยาบาล โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย
เรียบเรียงโดย พญ. พนิดา วิจารณ์
ข้อมูลจาก https://medicalxpress.com/news/2024-02-advances-pediatric-sepsis-biomarkers.html