การศึกษาในบราซิลในการรักษาโรคมาลาเรียชนิดทีเกิดจากเชื้อ Plasmodium vivax ได้สรุปว่า การให้ยา Primaquine ขนาด 7 mg/kg มีประสิทธิภาพสูงกว่าในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำเมื่อเทียบกับการให้ Primaquine ขนาด 3.5 mg/kg
ในปัจจุบัน โรคมาลาเรียในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขอยู่ ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีการรายงานจำนวนมากถึง 144,487 คน โดยร้อยละ 83.6 นั้นเกิดจากเชื้อ Plasmodium vivax มากที่สุด โดยปกตินั้นการรักษาจะใช้ยา Primaquine ขนาด 3.5 mg/kg ร่วมกับ Chloroquine 25 mg/kg ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำในช่วงหลังให้ยาหกเดือนนั้นมีเพียง 60 – 70% เท่านั้น
การศึกษาในประเทศบราซิลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการ USAID ได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากว่า 5 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อมาลาเรียจากเชื้อ Plasmodium vivax จากกล้องจุลทรรศน์โดยไม่พบเชื้อก่อโรคมาลาเรียอื่น ๆ ร่วมด้วย จำนวน 254 คน และแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จะได้รับยา Primaquine ขนาด 3.5 mg/kg ในเวลาเจ็ดวัน โดยกลุ่มที่ 2 จะได้รับยาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 ร่วมกับการร่วมสังเกตการณ์จากผู้ทำวิจัยขณะให้ยา และกลุ่มที่สามจะได้รับยา Primaquine ในขนาด 7 mg/kg ในช่วงเวลาสิบสี่วัน โดยทั้งสามกลุ่มนั้นได้รับยา Chloroquine 25 mg/kg ในช่วงเวลาสามวัน ผลปรากฏว่า หลังการให้ยาครบ 28 วัน พบการติดเชื้อ Plasmodium vivax ซ้ำในกลุ่มที่ 1 และ 2 จำนวน 2 และ 1 คน ตามลำดับ และเมื่อถึงวันที่ 168 หลังการให้ยา พบการติดเชื้อซ้ำจำนวน 24, 34 และ 12 ราย ในกลุ่ม 1, 2 และ 3 ตามลำดับ การไม่พบการติดเชื้อซ้ำของทางสามกลุ่มคิดเป็น 58% (95%CI 44-70), 59% (95%CI 47-69) และ 86% (95%CI 76-92) ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ทางหลักสถิติแล้วพบว่าโอกาสการเกิดการติดเชื้อซ้ำระหว่างกลุ่มมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัย โดยความแตกต่างระหว่างกลุ่ม 1กับ กลุ่ม 3 โอกาสต่างกัน 27% ( 97.5% CI, 10 to 44; P<0.001) และ กลุ่ม 2 กับกลุ่ม 3 27% (97.5% CI, 12 to 42; P<0.001)
โดยสรุปแล้ว การให้ Primaquine ใน dose 7.0 mg/kg นั้นจะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดซ้ำของการติดเชื้อ Plasmodium vivax ได้ในช่วง 168 วันหลังการรักษา
เรียบเรียงโดย นพ. วิชล ลิ้มพัฒนาชาติ
ข้อมูลจาก https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2104226