ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่ผลการตรวจ PCR หาเชื้อแบบป้ายคอพบเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือไวรัสร่วมกับแบคทีเรีย กับระยะเวลาของความเจ็บป่วย ความรุนแรงของอาการและอัตราการส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางซ้ำ
การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กเป็นโรคที่แพทย์ทั่วไปพบเจอได้บ่อยและมักมีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีประโยชน์ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเชื้อที่พบมักเป็นเชื้อไวรัส ในปัจจุบันจึงได้มีการนำการตรวจ PCR มาใช้เพื่อหาเชื้อแบคทีเรียและให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อตรวจพบเชื้อ
ผู้วิจัยต้องการศึกษาผลของการใช้ยาปฏิชีวนะต่อการหายจากอาการทางระบบทางเดินหายใจในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเฉียบพลันและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปฐมภูมิ จึงได้ทำการศึกษาโดยใช้ผลการทดลองทางคลินิกร่วมกับการศึกษาเชิงสังเกตในผู้ป่วยเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 12 ปี การทดลองทางคลินิกทำการสุ่มโดยกลุ่มทดลองได้รับยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลินขนาด 50 มก./กก./วัน แบ่งวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก ส่วนผู้ป่วยที่ผู้ปกครองหรือแพทย์ไม่ยินยอมให้ทำการสุ่มจะทำการศึกษาเชิงสังเกต ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจ PCR แบบป้ายคอชนิดที่สามารถตรวจหาเชื้อได้ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย จากจำนวนตัวอย่างผล PCR ที่ศึกษาทั้งสิ้น 306 ตัวอย่าง ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในเรื่องของระยะเวลาของอาการ ความรุนแรง และการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางซ้ำทั้งในกลุ่มของผู้ป่วยที่ตรวจ PCR พบเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียและไม่พบหลักฐานว่าการให้ยาปฏิชีวนะสามารถลดความรุนแรงของอาการได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่พบเชื้อปริมาณมากเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าไม่พบผลที่ชัดเจนในการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนล่างต่อระยะเวลาของความเจ็บป่วย ความรุนแรงของอาการและอัตราการส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางซ้ำ
- https://www.clinicalmicrobiologyandinfection.com/article/S1198-743X(22)00110-0/fulltext
- https://www.medscape.com/viewarticle/972019