ขณะที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายจะสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายในปี ค.ศ. 2030 งานวิจัยล่าสุดกลับพบว่า อุบัติการณ์ของโรคกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม และเริม เป็นภาระทางการสาธารณสุขมาหลายทศวรรษ ด้วยจำนวนผู้ป่วยรวมอย่างน้อย 500 ล้านคนทั่วโลก งานวิจัยพบว่า จำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในภูมิภาคแอฟริกาและอเมริกาใต้
นักวิจัยจากประเทศจีนเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร The Lancet Infectious Diseases เกี่ยวกับอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted infection) โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานของ Global Burden of Disease ใน 204 ประเทศทั่วโลก ประจำปี ค.ศ. 2019 พบว่า แม้ในภาพรวม อุบัติการณ์ปรับมาตรฐานอายุ (age-standardized incidence) และอัตราการสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life year; DALY) ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆในช่วง ค.ศ. 1990 – 2019 แต่จำนวนผู้ป่วยสัมบูรณ์กลับสูงขึ้นในช่วง 30 ปีมานี้ โดยเฉพาะในบางกลุ่มอายุและภูมิภาคกลับมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้น บริเวณทวีปแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ปรับมาตรฐานอายุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงที่สุดเกือบ 2 หมื่นคนต่อประชากรแสนคน-ปี และอัตราการสูญเสียปีสุขภาวะถึง 389 คนต่อประชากรแสนคน-ปี ในจำนวนนี้ กลุ่มวัยรุ่นมีอุบัติการณ์มากที่สุด โดยเฉพาะ อัตราของโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วง ค.ศ. 2010 – 2019 ขณะที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นในช่วงอายุนี้มีอุบัติการณ์คงที่ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ตามปัจจัยด้านเพศ ยังพบว่าอุบัติการณ์ปรับมาตรฐานของโรคในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง ในขณะที่อัตราการสูญเสียปีสุขภาวะในเพศหญิงกลับสูงกว่าเพศชาย
ผลจากงานวิจัยนี้ทำให้วงการสาธารณสุขโลกตระหนักว่า ปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แพร่ระบาดหนักในประชากรกลุ่มอายุน้อยลง การวางแผนเพื่อควบคุมรณรงค์ป้องกันโรคจึงควรให้ความสำคัญกับข้อมูลชุดนี้ด้วย
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก
1. https://www.medscape.com/viewarticle/972937#vp_1
2. https://www.thelancet.com/journals/laninf/article/PIIS1473-3099(21)00448-5/fulltext