การศึกษาพบว่า การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดเดียว (Single antiplatelet therapy, SAPT) เกิดอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร และเกิดแผลใหม่ในกระเพาะอาหารน้อยกว่าการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดร่วมกัน (Dual antiplatelet therapy, DAPT)
ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) คือ กลุ่มยาที่ใช้ลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด และช่วยป้องกันการอุดตันในหลอดเลือดหรือหัวใจ ใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุจากหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยขดลวด หรืออาจใช้ป้องกันการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้วด้วย ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดของการใช้ยากลุ่มนี้คือ การมีเลือดออกในทางเดินอาหาร แม้ว่าจะพบไม่บ่อยในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของเลือดออกต่ำ
Yaling Han, Zhuan Liao และทีมนักวิจัยได้ทำการสุ่มผู้ป่วย จำนวน 505 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous coronary intervention, PCI) และไม่มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร ตรวจด้วยการกลืนกล้องขนาดเล็ก (Capsule endoscopy) ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านเกล็ดเลือด ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) หรือคลอพิโดเกรล (Clopidogrel) สองชนิดร่วมกัน เป็นเวลา 6 เดือน และได้รับยาต่อเนื่องอีก 6 เดือน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับแอสไพรินคู่กับยาหลอก จำนวน 168 คน, คลอพิโดเกรลคู่กับยาหลอก จำนวน 169 คน และ แอสไพรินคู่กับคลอพิโดเกรล จำนวน 168 คน เมื่อติดตามดูอัตราการบาดเจ็บของทางเดินอาหาร ซึ่งเป็น primary endpoint เช่น แผลหรือเลือดออก พบว่าการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดเดียวหรือ SAPT เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่าเมื่อเทียบกับใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดร่วมกัน
จากการศึกษานี้ ทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดโดยเฉพาะการใช้แบบสองชนิดร่วมกัน (DAPT) โดยการบาดเจ็บเลือดออกในทางเดินอาหารเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของเลือดออกต่ำ การมีเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างชัดเจนนับว่าเจอได้ไม่บ่อย
ข้อมูลจาก
- https://specialty.mims.com/topic/single-antiplatelet-therapy
- https://www.jacc.org/doi/10.1016/j.jacc.2021.10.028