ในการทำหัตถการเกี่ยวกับ Structural heart disease (Structural heart intervention) แพทย์ผู้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Interventional echocardiographer) เป็นผู้ได้รับรังสีมากที่สุด มากกว่าแพทย์มัณฑนากรหัวใจ (Interventional cardiologist) ถึง 3 – 11 เท่า การได้รับรังสีในปริมาณมากนี้ บ่งบอกว่าที่ผ่านมา แพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง อาจคาดไม่ถึงว่าตนมีความเสี่ยงต่อการได้รับรังสีที่มาก และยังบ่งถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการทำหัตถการ structural heart intervention ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แพทย์ผู้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงระหว่างการทำหัตถการหัวใจเกี่ยวกับ Structural heart disease เป็นแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ใน Structural heart team (กลุ่มแพทย์จากหลายสาขาและทีมงานที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย Structural heart disease) ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาปริมาณรังสีที่แพทย์มัณฑนากรหัวใจได้รับในขณะทำหัตถการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ (Coronary intervention) พบว่า ได้รับรังสีในปริมาณมาก แต่ในช่วงระยะเวลา 5 – 10 ปีที่ผ่านมา มีการทำหัตถการเกี่ยวกับ Structural heart disease มากขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งแพทย์ที่เป็นผู้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงต้องยืนตรวจอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับแหล่งปล่อยรังสีและใกล้ตัวผู้ป่วยซึ่งเป็นตัวกระจายรังสี ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาว่า แพทย์ผู้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงได้รับรังสีในปริมาณที่มากกว่าแพทย์มัณฑนากรหัวใจและนักตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจหรือไม่ เพื่อช่วยป้องกันการได้รับรังสีจากหัตถการเหล่านี้
งานวิจัยนี้ซึ่งจัดทำโดย Dr. McNamara และคณะได้รับการตีพิมพ์ในวรสาร JAMA Network Open เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบตัดขวาง (Cross-sectional study) ทำที่ the Frederik Meijer Heart & Vascular Institute of Spectrum Health ในเมือง Grand Rapids รัฐ Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการทำหัตถการด้าน structural heart intervention จำนวน 60 หัตถการในผู้ป่วย 60 ราย ประกอบด้วย Transcatheter edge-to-edge repair (TEER) และ Left atrial appendage occlusion (LAAO) อย่างละ 30 ราย รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2016 ถึงเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2018 เพื่อเก็บข้อมูลปริมาณรังสีที่ผู้ทำหัตถการได้รับ โดยในระหว่างการทำหัตถการจะมีการสวมอุปกรณ์ป้องกันรังสี โดยแพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง แพทย์มัณฑนากรหัวใจและนักตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ สวมใส่เสื้อกระโปรงตะกั่ว ปลอกคอป้องกันบริเวณต่อมไทรอยด์ และอุปกรณ์วัดปริมาณรังสี (Dosimeter) แพทย์มัณฑนากรหัวใจจะยืนในตำแหน่งชิดเตียงทำหัตถการโดยมีกำบังตะกั่วกันอยู่บริเวณด้านบนและด้านล่างของร่างกาย ส่วนแพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงจะยืนชิดด้านศีรษะของผู้ป่วยและมีกำบังเสริมที่เคลื่อนย้ายได้และปรับให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถควบคุมสายตรวจ (probe) คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiogram) จากการเก็บข้อมูล พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้เครื่องเอกซเรย์ดูภาพรังสีบนจอ (Fluoroscopy) อยู่ที่ 9.2 และ 20.9 นาที สำหรับหัตถการ LAAO และ TEER ตามลำดับ ส่วนปริมาณรังสีที่ได้รับ (Air kerma) เฉลี่ยอยู่ที่ 164 และ 109 มิลลิเกรย์ (mGy) ตามลำดับ ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า แพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงได้รับรังสีในปริมาณที่มากกว่าแพทย์มัณฑนากรหัวใจได้รับถึง 5 เท่า โดยถ้าแบ่งตามหัตถการ พบว่าแพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงได้รับปริมาณรังสีมากกว่าแพทย์มัณฑนากรหัวใจถึง 11 เท่า และ 3 เท่าในหัตถการ TEER และ LAAO ตามลำดับ ซึ่งงานวิจัยยังพบอีกว่า แพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงนั้นอยู่ในระยะใกล้จากแหล่งปล่อยรังสีมากที่สุด (26 เซนติเมตร) เมื่อเทียบกับแพทย์มัณฑนากรหัวใจ (36 เซนติเมตร) ส่วนนักตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจนั้น ได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่าแพทย์ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะนักตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจอยู่ห่างจากแหล่งปล่อยรังสีมากที่สุด (250 เซนติเมตร)
Dr. Sunil Rao ประธานสมาคม the Society of Cardiovascular Angiography and Interventions (SCAI) กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นการคิดและศึกษานอกกรอบไปจากสิ่งที่เคยทำมาในแง่ของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานจากการได้รับรังสี ทำให้แพทย์และทีมตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยจากรังสีและเปลี่ยนพฤติกรรมขณะทำหัตถการ เขาคาดการณ์ว่า ในอนาคตแพทย์ผู้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงจะได้รับรังสีในปริมาณที่น้อยกว่าเดิม เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์ดูภาพรังสีบนจอที่ใช้ระบบเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ๆ ที่มีคุณสมบัติในการลดปริมาณรังสี รวมถึงการมีมาตรการป้องกันรังสีที่ดีกว่าเดิม และทาง SCAI กำลังหาแนวทางที่จะช่วยให้แพทย์เหล่านั้นเข้ามาเป็นสมาชิกในสมาคมด้วย
- https://www.medscape.com/viewarticle/977240#vp_1
- McNamara DA, Chopra R, Decker JM, McNamara MW, VanOosterhout SM, Berkompas DC, Dahu MI, Kenaan MA, Jawad WI, Merhi WM, Parker JL, Madder RD. Comparison of Radiation Exposure Among Interventional Echocardiographers, Interventional Cardiologists, and Sonographers During Percutaneous Structural Heart Interventions. JAMA Network Open.2022;5(7):e2220597. doi:10.1001/jamanetworkopen.2022.20597