การวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูล CDC WONDER พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจที่เกิดจากสารเสพติด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปี สวนทางกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจที่ลดลง โดยแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากที่สุด
ในระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับอัตราการเสียชีวิตจากสารเสพติดเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนโรคหัวใจและหลอดเลือดมีการรักษาและการป้องกันที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก แต่ว่าการใช้สารเสพติดเป็นปัจจัยเสริมการเกิดโรคหัวใจที่สำคัญ การศึกษานี้จึงทำเพื่อหาความสัมพันธ์ของอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจอันเกี่ยวข้อง หรือมีเหตุจากสารเสพติดว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร
การศึกษานี้เป็นการนำฐานข้อมูลการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากเหตุต่าง ๆ ที่เก็บโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ ชื่อฐานข้อมูล CDC WONDER ที่เก็บในปี 1999 – 2019 โดยคิดแยกสาเหตุการเสียชีวิตตามโรค ตามกลุ่มอายุ เพศ เชื้อชาติ เศรษฐานะ และเมื่อสนใจข้อมูลการเสียชีวิตจากสารเสพติดและโรคหัวใจ จะสามารถรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ พบว่า เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 29 ล้านคน จาก 52 ล้านคน และเสียชีวิตจากสารเสพติด 6.3 แสนคน จาก 52 ล้านคน (2.2%) โดยไม่นับการสูบบุหรี่ที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจ และไม่นับการใช้สารเสพติดโดยไม่จงใจ
อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 654 ต่อแสนประชากรในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งอัตราการเสียชีวิตต่อปีนี้ลดลงเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ส่วนการเสียชีวิตจากสารเสพติด 43.6 ต่อแสนประชากรในระยะเวลา 20 ปี ที่เพิ่มเฉลี่ย 3.9% ต่อปี
และหากมาคิดรวมกัน คือ อัตราการเสียชีวิตโรคหัวใจอันเกิดจากสารเสพติด 14.3 ต่อแสนประชากรใน 20 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% ต่อปี ไปในทางเดียวกันกับการเสียชีวิตที่เพิ่มจากสารเสพติด สัดส่วนที่พบมากขึ้น คือ การเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยที่ปรกติกลุ่มนี้จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจไม่มาก โดยสารเสพติดที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยจากโรคหัวใจตามลำดับ คือ แอลกอฮอล์ 9.9 ต่อแสนประชากร ตามมาด้วยกลุ่มฝิ่น 2.04 ,โคเคน 1.45
ส่วนกัญชา พบว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยจากโรคหัวใจลดลง แต่แนวโน้มกำลังเพิ่มขึ้นจากการอนุญาตใช้มากขึ้น และความเข้มข้นของสาร THC ที่เพิ่มมากขึ้น
การใช้สารเสพติดที่เพิ่มขึ้น นอกจากอันตรายจากตัวสารเสพติดแล้ว ยังส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ สารเสพติดอีกด้วย และแม้อายุน้อยก็เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น หากมีการใช้สารเสพติด ดังนั้น ต้องพิจารณาเรื่องการใช้สารเสพติด ในการดูแลโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช
ข้อมูลจาก doi: 10.1161/JAHA.123.030969. Epub 2024 Jan 10. PMID: 38197601.