รายงานการศึกษา พบว่า ความผิดปกติของโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด
โรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธอาหาร อดอาหาร หรือการรับประทานครั้งละมาก ๆ หยุดรับประทานไม่ได้ รวมไปถึงพฤติกรรมที่จะกำจัดอาหารที่ตนเองรับประทานเข้าไปแล้วโดยการล้วงคอให้อาเจียนออกมาอย่างในโรค Bulimia เป็นต้น
จากข้อมูลของระบบเบิกจ่ายประกันสุขภาพเอกชนในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 43 พันล้านรายการในระหว่างปี ค.ศ. 2018 ถึง 2022 ที่มีการระบาดของโรคโควิดพบการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายการรักษาเกี่ยวกับโรคพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ประมาณ 65% ของรายการเบิกประกันทั้งหมด โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่มีความผิดปกติเป็นแบบเบื่ออาหารเพิ่มขึ้น 305% กลุ่มที่รับประทานที่ละมาก ๆ เพิ่มขึ้น 81% โรคคลั่งผอม (Anorexia) เพิ่มขึ้น 73% โรคล้วงคอของคนกลัวอ้วน (Bulimia) เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากปี ค.ศ. 2017 กลุ่มอายุที่พบความผิดปกติของโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 19 ถึง 24 ปี ตามมาด้วยช่วงอายุน้อยลง คือ 14 ถึง 18 ปี และเป็นสตรีถึง 89% ของทั้งหมด อีกทั้งยังพบอีกว่า 72% ของผู้ที่มีความผิดปกติของโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานจะมีโรคทางจิตเวชร่วมด้วยอย่างน้อย 1 โรคขึ้นไป เช่น โรคขี้กังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น ส่วน 20% ของผู้ที่มีความผิดปกติของโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานจะใช้สารเสพติดร่วมด้วย
จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าโรคระบาดรุนแรงไปทั่วโลกอย่างโควิด ไม่เพียงแต่กระทบต่อสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ส่งผลต่อสุขภาพใจ ซึ่งแสดงออกมาผ่านทางพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
- https://www.medscape.com/viewarticle/998724?&icd=login_success_email_match_fpf
- https://s3.amazonaws.com/media2.fairhealth.org/whitepaper/asset/Spotlight%20on%20Eating%20Disorders%20-%20A%20FAIR%20Health%20White%20Paper.pdf