การออกกำลังกายลิ้น หรือ Tongue strengthening exercise (TSE) เพิ่มความแข็งแรงของลิ้นส่วนหน้าและส่วนหลังในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
ลิ้นทำหน้าที่สำคัญในการกลืนอาหาร ความแข็งแรงของลิ้นจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น หากลิ้นอ่อนแรงจะไม่สามารถกลืนอาหารได้ปกติ และเกิดการสำลักอาหาร การออกกำลังลิ้นมีหลายวิธี โดยในปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน มีการศึกษามากมายที่พบว่าการออกกำลังลิ้นช่วยเพิ่มความแข็งแรงของลิ้นได้
การศึกษา Meta-analysis ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2022 รวบรวม randomized control trials จำนวน 12 ฉบับ รวมรวมกลุ่มตัวอย่างจำนวน 388 คน ดูความแข็งแรงของลิ้นในผู้ที่ได้รับการฝึกออกกำลังลิ้น เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฝึก ความแข็งแรงของลิ้นวัดโดย Iowa Oral Performance Instrument (IOPI) วัดค่าแรงมากที่สุดในการยกลิ้น (tongue elevation peak force) ของลิ้น 2 ตำแหน่งคือ 1. ลิ้นด้านหน้า วางอุปกรณ์วัดไว้หลังต่อฟันหน้า 2. ลิ้นด้านหลัง วางอุปกรณ์วัดไว้บริเวณรอยต่อระหว่างเพดานแข็งและเพดานอ่อน ผลการวิจัยพบว่า การออกกำลังกายลิ้นเพิ่มแรงของลิ้นด้านหน้า และหลังได้ 5.34 และ 8.12 กิโลปาสคาล ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามเมื่อทำการวิเคราะห์กลุ่มย่อย พบการเพิ่มขึ้นของความแข็งแรงลิ้นอย่างมีนัยสำคัญเฉพาะในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ไม่มีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งคอหอย ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ยังมีการวิเคราะห์กลุ่มย่อยแยกในแต่ละช่วงอายุ พบว่า การออกกำลังลิ้นช่วยเพิ่มความแข็งแรงลิ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี
จากงานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายลิ้น ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของลิ้นในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแรงของลิ้นที่เพิ่มขึ้น อาจไม่สามารถนำมาสรุปได้ว่าจะเพิ่มความสามารถในการกลืน หรือลดการสำลักได้ เนื่องจากการกลืนอาศัยการทำงานร่วมกันของหลาย ๆ อวัยวะ งานวิจัยนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การออกกำลังลิ้นมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนหรือไม่ คงต้องติดตามงานวิจัยในอนาคตต่อไป
- https://specialty.mims.com/topic/tongue-strengthening-exercises-boost-tongue-strength-in-healthy-adults
- https://www.nature.com/articles/s41598-022-14335-2