การศึกษาระหว่างปี 2016 – 2019 พบว่า มีการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นจากเดิม 25% มีอัตราการเสียชีวิตน้อยลงจากเดิมครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ป่วยจะมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าที่เคย โดยพบว่ามีการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตมากกว่าผู้บริจาคที่มีชีวิต
Hariharan และคณะรายงานใน NEJM ในการทบทวนการปลูกถ่ายไตทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1996 – 2019 พบว่า ระหว่างปี 2016 – 2019 มีผู้ได้รับบริจาคไตประมาณ 15,000 ราย เพิ่มขึ้นเกือบ 25% เมื่อเทียบกับปี 2004 – 2015 โดยผู้รับการปลูกถ่ายไตจะมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น และเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และมีความชุกของโรคเบาหวานมากขึ้น และอายุของผู้บริจาคอวัยวะก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
อัตราการปลูกถ่ายไม่สำเร็จในปีแรกระหว่างปี 2017 น้อยลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 1996 โดยเกิดขึ้นในผู้ป่วยประมาณ 2% ที่ได้รับอวัยวะผู้บริจาคที่มีชีวิตและประมาณ 6% ของผู้ที่ได้รับไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตและในปี 2018 อัตราการเสียชีวิตในปีแรกหลังการปลูกถ่ายเกิดขึ้นที่อัตรา 1% ในผู้ป่วยที่ได้รับไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต และในอัตราประมาณ 3% เมื่ออวัยวะมาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต น้อยลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 1996 จะเห็นได้ว่าการปลูกถ่ายไตโดยเฉพาะจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น สำหรับอัตราการรอดชีวิต 10 ปีสำหรับผู้รับการปลูกถ่ายระหว่างปี 2008 – 2011 อยู่ที่ 67% เพิ่มขึ้นจาก 61% ในช่วงปี 1996 – 1999
อัตราการปลูกถ่ายและอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจะยังคงดีขึ้นต่อไปในอนาคต เนื่องจากหลังจากปี 2023 “ร่างกฎหมายภูมิคุ้มกัน” ที่ออกโดยรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกากำหนดให้ทุกคนที่มีการปลูกถ่ายไตได้รับการคุ้มครองครอบคลุมถึงยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง ซึ่งแต่เดิมจำกัดเพียง 36 เดือน ส่งผลให้ผู้รับไตเกือบ 400 ราย สูญเสียความคุ้มครองยากดภูมิคุ้มกันในแต่ละปี
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/957168#vp_1