ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี พบว่าสามารถลดการมาห้องฉุกเฉิน หรือนอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อโควิด 19 ได้ร้อยละ 40
ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กส่วนน้อยที่มีโอกาสเกิดโรครุนแรงขึ้นหลังจากติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม ล่าสุดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด monovalent mRNA สามารถฉีดได้ในเด็กอายุน้อยที่สุด 6 เดือน
นักวิจัยศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนชนิด mRNA จากฐานข้อมูล New Vaccine Surveillance Network สหรัฐอเมริกา ซึ่งเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนและการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี ที่มารักษา ณ ห้องฉุกเฉิน หรือต้องนอนโรงพยาบาล 7 แห่ง ช่วงเดือน ก.ค. 2022 ถึง ก.ย. 2023 ซึ่งอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า จากข้อมูลผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนจำนวน 7,434 คน มีถึงร้อยละ 86 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในขณะนั้น มีเด็กจำนวน 387 คน หรือร้อยละ 5 จากผู้ป่วยทั้งหมด มีประวัติตรวจพบการติดเชื้อโควิด 19 เมื่อวิเคราะห์เฉพาะในกลุ่มเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA ตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป พบอัตราการมาห้องฉุกเฉิน และหรือนอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อโควิด 19 น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ร้อยละ 40 (95% CI = 8% – 60%)
แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 และได้รับวัคซีน ในการศึกษานี้จะมีจำนวนไม่มาก ผลจากการศึกษาอาจใช้สนับสนุนคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปได้ ร่วมกับข้อมูลจากการวิจัยต่อไปในอนาคต
เรียบเรียงข้อมูลโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/998989