การศึกษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในสหรัฐฯ พบความสัมพันธ์ของการรักษาอาการผิดปกติของการมองเห็นอาจสามารถลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
โรคสมองเสื่อม (Dementia) หมายถึง การที่ผู้ป่วยมีความเสื่อมถอยทางระบบประสาท ทั้งในแง่ความจำ ภาษา การคิดคำนวณ รวมถึงการเข้าสังคมอันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อย ๆ จากโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุมากว่า 65 ปีมีจำนวนมากขึ้น โดยแนวทางการรักษาในปัจจุบันมุ่งเน้นการค้นหาปัจจัยเสี่ยงเพื่อนำมาสู่การชะลอและการป้องกันโรคสมองเสื่อม
Joshua R. Ehrlich และทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์ออนไลน์ใน JAMA Neurology 2022 เป็นการศึกษาฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อายุมากกว่า 50 ปี ในสหรัฐฯ จำนวน 16,690 ราย เป็นผู้ป่วยหญิงร้อยละ 54 และผู้ป่วยชายร้อยละ 46 ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม 12 ประการ ได้แก่ ความผิดปกติในการมองเห็น ภาวะหูดับ ประวัติการได้รับบาดเจ็บศีรษะ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การใช้สุรา การสูบบุหรี่ ภาวะซึมเศร้า การไม่ออกกำลังกาย การไม่เข้าร่วมสังคม และระดับการศึกษาน้อยกว่าเกณฑ์ โดยทีมวิจัยได้นำฐานข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ประเมินหาค่าสัดส่วนของโรคที่เกิดจากสาเหตุหนึ่ง ๆ (Population Attributable Fraction: PAF) พบว่าค่า PAF ของความผิดปกติในการมองเห็นต่อภาวะสมองเสื่อมคิดเป็นร้อยละ 1.8 ซึ่งหมายถึงว่า หากมีการรักษาความผิดปกติในการมองเห็น อาจเพิ่มโอกาสในการลดผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 10,000 ราย
ข้อมูลจากการศึกษา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาอาการผิดปกติในการมองเห็น ซึ่งส่วนมากเป็นโรคที่รักษาได้ ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการพัฒนาการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมในอนาคตได้
ข้อมูลจาก
- https://www.medscape.com/viewarticle/972865
- https://jamanetwork.com/journals/jamaneurology/article-abstract/2791268