หนูที่ถูกทำให้อ้วนในการทดลอง สามารถลดน้ำหนัก ไขมัน และความดันโลหิตได้เมื่อรับประทานวาซาบิเสริม และมีความเป็นไปได้ว่า วาซาบิอาจสามารถพัฒนาเป็นยา หรืออาหารเสริมเพื่อช่วยระบบการเผาผลาญได้ต่อไป
อาหารหลายชนิดมีผลต่อการเผาผลาญ ดังเช่น สาร 6-(Methylsulfinyl)hexyl isothiocyanate หรือ 6-MSITC ที่มีอยู่ในวาซาบิ ถูกพบว่ามีหน้าที่ทางชีวภาพหลายอย่างและอาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
Fernanda Santos Thomaz และคณะจากประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาสาร 6-MSITC ที่อยู่ในวาซาบิที่ปลูกด้วยวิธีแบบไร้ดินจากรัฐแทสเมเนีย ผู้วิจัยได้ทำให้หนูอ้วนด้วยการให้รับประทานอาหารจำพวกแป้งและไขมันสูง โดยแบ่งหนูอย่างสุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มควบคุมที่รับประทานอาหารปกติ (C) กลุ่มที่รับประทานอาหารแป้งและไขมันสูง (H) นาน 16 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารปกติ กลุ่มที่รับประทานอาหารแป้งและไขมันสูง นาน 8 สัปดาห์ และตามด้วยการเสริมวาซาบิ 5% ตามน้ำหนัก อีก 8 สัปดาห์ (กลุ่ม CW และ HW ตามลำดับ) โดยช่วงที่รับประทานอาหารแป้งและไขมันสูงทั้งจากกลุ่มที่ได้และไม่ได้วาซาบิเสริมนั้น (กลุ่ม HW และ H ตามลำดับ) จะได้ดื่มน้ำตาลฟรุกโตส 25% แทนน้ำเปล่าในกลุ่มควบคุม (กลุ่ม C และ CW) โดยหนูทุกกลุ่มสามารถรับประทานอาหารเองอย่างอิสระ ผลพบว่าหนูที่ได้รับอาหารแป้งและไขมันสูง (H) มีน้ำหนักมากกว่ากลุ่มควบคุม (C) อย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อหนูได้วาซาบิเสริมจะมีน้ำหนักลดลง มวลไขมัน ระดับไขมันในเลือด ค่าการทำงานของตับ ความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ น้ำหนักเฉลี่ย 460 กรัมลดลงเป็น 416 กรัมหลังได้วาซาบิ มวลไขมันลดลงจาก 178 กรัม เป็น 120 กรัม ระดับไตรกลีเซอไรด์จาก 1.7 มิลลิโมล/ลิตร ลดลงเป็น 0.9 มิลลิโมล/ลิตร และระดับคลอเลสเตอรอลจาก 1.5 มิลลิโมล/ลิตร ลดลงเป็น 1.0 มิลลิโมล/ลิตร ระดับ aspartate transaminase ลดลงจาก 94.9 หน่วย/ลิตร เป็น 67.0 หน่วย/ลิตร และความดันโลหิตลดลงจาก 146 มม.ปรอท เป็น 132 มม.ปรอท ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งหมด
จากผลการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า วาซาบิสามารถลดน้ำหนัก ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิตสูงในหนูอ้วนได้ อาจเป็นไปได้ว่าวาซาบิอาจจะมีโอกาสนำมาพัฒนาเป็นยา หรืออาหารที่ช่วยเรื่องโรคอ้วนต่อไป
เรียบเรียงโดย พญ. นิษฐา ปรุงวิทยา
ข้อมูลจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9654917/