วัคซีนโควิด 19 จะช่วยลดความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ได้ แต่พบว่าในผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ หรือมีโรคร่วม ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด 19
วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรง และการเสียชีวิตได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายยังคงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด 19 ที่รุนแรง และมีอาการในระบบต่าง ๆ แม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้ว เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกตลอดเวลา ปอดอักเสบรุนแรง ซึม ตอบสนองช้า จึงมีความจำเป็นในการหาปัจจัยที่จะช่วยทำนายความเสี่ยงของการภาวะปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว
Efren Murillo-Zamora และทีมนักวิจัย ได้ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลังที่ประเทศเม็กซิโก ระหว่างเดือนส.ค.-เดือนต.ค. 2564 โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 20 ปี และมีผลการตรวจ RT-PCR หรือ Rapid antigen test พบเชื้อ โดยผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิดใดก็ได้ 2 เข็มหรือ ได้รับ 1 เข็มอย่างน้อย 14 วันก่อนการเจ็บป่วย โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 1,607 ราย ที่นำมาวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิเคราะห์พบอัตราการเกิดภาวะปอดอักเสบอยู่ที่ 1.98 รายต่อผู้ป่วย 1000 คน/ต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อยู่ที่ 53.5% เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะปอดอักเสบ พบว่าผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดอักเสบมากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในผู้สูงอายุที่อายุเกิน 65 ปี สูบบุหรี่ อ้วน หรือเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะปอดอักเสบจากโรคโควิดมากขึ้น โดยมีความเสี่ยงอยู่ที่ 1.04, 1.07, 1.02 และ 1.03 เท่าตามลำดับ
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน หรือผู้ที่สูบบุหรี่ยังมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้อาจมีข้อจำกัด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันยังไม่สูงพอที่จะลดความรุนแรงของโรคโควิดได้ เช่นเดียวกับคุณภาพของวัคซีนแต่ละประเภท ทำให้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละประเภทเพิ่มเติมด้วย
ข้อมูลจาก
- https://specialty.mims.com/topic/old-age–unhealthy-lifestyle
- https://www.ijidonline.com/article/S1201-9712(22)00078-9/fulltext