งานวิจัย พบว่า การรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ รวมถึงการขาดการตรวจสอบตนเอง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ที่เคยลดน้ำหนักสำเร็จนั้นกลับมามีน้ำหนักเพิ่มมาอีกครั้ง
การลดน้ำหนักว่ายากแล้ว การคงน้ำหนักไม่ให้กลับไปเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดได้แล้วนั้นยากกว่า เนื่องจากเมื่อน้ำหนักลดลง อัตราการเผาผลาญของร่างกายจะลดลง ฮอร์โมนความหิวจะเพิ่มขึ้น โดยรวมมีแนวโน้มทำให้รับประทานมากขึ้น เผาผลาญได้ลดลง และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นในที่สุด การปรับพฤติกรรมสุขภาพทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการหมั่นติดตามตรวจสอบน้ำหนักตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ต้องคงไว้ไปตลอดเพื่อคงน้ำหนักให้สมส่วน ไม่กลับไปเพิ่มอีก
Suzanne Phelan และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาในผู้เข้าร่วมงานวิจัยโรคอ้วนที่สามารถลดน้ำหนักตั้งแต่ 9.1 กก.ขึ้นไป และทำให้น้ำหนักคงที่ได้นานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จำนวน 2,843 ราย โดยนักวิจัยได้ติดตามผู้เข้าร่วมงานวิจัยด้วยแบบสอบถามที่ได้รับการ validate เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ จิตสังคม และสิ่งแวดล้อมที่บ้านอีก 1 ปีหลังลดน้ำหนักสำเร็จ พบว่า 43% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ 2.3กก. ขึ้นไป ซึ่งโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเท่ากับ 7.2 กก. และ 53% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยสามารถทำให้น้ำหนักยังคงที่ หรือแตกต่างจากเดิมไม่เกิน 2.3 กก.ได้ เมื่อเปรียบระหว่างสองกลุ่มที่น้ำหนักเพิ่มและน้ำหนักคงที่ต่อได้ พบว่ากลุ่มที่น้ำหนักเพิ่มมีอายุน้อยกว่า มีน้ำหนักตั้งต้นมากกว่า แม้จะลดน้ำหนักลงได้ในช่วงแรกมากกว่าอีกกลุ่มก็ตาม และสิ่งที่แตกต่างชัดเจนในสองกลุ่มนี้ คือ ความสามารถในการจัดการกับความอยากอาหารในปริมาณมาก ๆ การติดตามตรวจสอบตนเอง และความพึงพอใจในรูปร่าง
การจัดการเพื่อป้องกันน้ำหนักกลับมาขึ้นภายหลังการลดน้ำหนักได้สำเร็จในอนาคต ควรมีเป้าหมายเน้นที่การจัดการกับความอยากอาหารปริมาณมาก ๆ รวมถึงการเพิ่มความตระหนักในการรักษาความพึงพอใจในรูปร่าง และการตรวจสอบตนเองอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง
- https://specialty.mims.com/topic/binge-eating–less-self-monitoring-lead-to-regain-in-successful-weight-losers
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/oby.23903