งานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยโรคโควิด 19 สามารถมีอาการลองโควิด (Long COVID) ได้นานเป็นปี โดยเพศหญิงจะได้รับผลกระทบจากภาวะนี้มากกว่าเพศชาย
เกือบครึ่งของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด 19 ยังมีอาการเรื้อรังไปอีกนานกว่า 1 ปี ภายหลังออกจากโรงพยาบาล โดยอาการหลังติดเชื้อหรืออาการ Long COVID ที่พบมากที่สุด คือ อาการเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดตามกล้ามเนื้อ ปัญหาการหายใจ ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาการคิดและความทรงจำ แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สมมติฐานหนึ่งเชื่อว่า เกิดจากภาวะการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย ซึ่งสืบเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากผิดปกติหลังการติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน และทิ้งผลข้างเคียงเอาไว้
ทีมวิจัยนำโดย Giovanna Pelà จาก Department of medicine and surgery, U of Parma, Italy และทีมงาน ได้ทำการวิจัยโดยการติดตามอาการผู้ป่วยโรคโควิด 19 หลังออกจากโรงพยาบาล จำนวน 2,320 คน พบว่า ที่เวลา 5 เดือนและ 1 ปี มีผู้ป่วยที่หายจากอาการลองโควิดเพียง 25% และ 29% ตามลำดับ โดยผู้ป่วยเพศหญิงมีโอกาสหายเป็นปกติน้อยกว่าเพศชายถึง 33% นอกจากนี้ ยังพบปัจจัยอื่นที่มีผลต่อโอกาสการหายขาดจากอาการลองโควิด ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างการรักษา ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับอีกงานวิจัยจากอิตาลี ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยเพศหญิงจะให้ประวัติมีอาการของลองโควิดมากกว่าเพศชาย เช่น อาการอ่อนเปลี้ย เจ็บหน้าอก ใจสั่น และกลืนลำบาก โดยมีอาการทั้งในระยะแรกจนถึง 5 เดือนหลังการเจ็บป่วย
จากการศึกษาสรุปได้ว่า ภาวะลองโควิดกำลังกลายมาเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน เพศของผู้ป่วย โดยเฉพาะเพศหญิงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถใช้ประกอบการเฝ้าระวังและดูแลติดตามอาการของผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในระยะยาวได้
ข้อมูลจาก
- https://www.medscape.com/viewarticle/972735
- https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/jwh.2021.0411