CIMjournal
BannerCVM 124

อาจารย์ นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า สาขาประสาทวิทยา


“ผมอยากออกไปเป็นคุณหมอ รพ.ชุมชน สัก 3 ปี เพื่อให้มีประสบการณ์ตรง”

ศ. นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า
สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อุปนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
ประธาน service plan โรคหลอดเลือดสมอง เขตสุขภาพที่ 7

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาประสาทวิทยา

ผมจบมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ฉะเชิงเทรา ตอนนั้นเลือกเรียนแพทย์เพราะอยากช่วยคนให้หายป่วย และในครอบครัวก็ยังไม่มีใครเรียนแพทย์เลย พอได้มาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ดีใจ เพราะหลักสูตรแพทย์ที่ขอนแก่นจะเน้นผลิตบัณฑิตเพื่อชุมชน มีการออกโรงพยาบาลชุมชน มีการออกภาคสนามไปกินนอนอยู่กับประชาชนในหมู่บ้านตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์

ระหว่างเรียนแพทย์เห็นว่า อายุรศาสตร์รักษาคนไข้ส่วนใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ศัลยกรรม คนไข้สูตินรีเวช หรือคนไข้อื่น ๆ ก็มักจะมีโรคทางอายุรกรรมร่วมด้วย เลยคิดว่าถ้าต่อทางด้านอายุร ศาสตร์น่าจะช่วยคนไข้จำนวนมากได้ เลยสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนทางอายุรศาสตร์ พอจบอายุรศาสตร์ตอนนั้นก็ชั่งใจว่าจะเรียนต่อหรือจะไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนดี เพราะมีความชอบในงานบริหารด้วย แต่มาตัดสินใจเลือกเรียนต่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะการอยากเป็นอาจารย์แพทย์ ได้ตรวจคนไข้ สอนหนังสือแพทย์ ทำงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในที่สุดจึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อ โดยช่วงที่ใช้ทุนปีที่ 2 ผมมีความชอบและประทับใจในวิชาประสาทวิทยา เพราะสามารถนำความรู้ที่มีมาวิเคราะห์เพื่อบอกว่าผู้ป่วยน่าจะมีรอยโรคอยู่ที่ส่วนใดของระบบประสาท และสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และภาคอีสานในปี พ.ศ. 2536 มีแพทย์สาขานี้น้อยมาก ผมจึงตัดสินใจฝึกอบรมต่อในสาขาประสาทวิทยา และสมัครเป็นอาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวลาต่อมา


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ผมภูมิใจที่ได้เรียนแพทย์และฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง เรียกได้ว่าเป็นลูกหม้อของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องยอมรับว่าจนถึงปัจจุบัน ผมได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ จากสถาบันนี้

ต่อมาจะเป็นความภูมิใจในการร่วมสร้าง 2 เครือข่าย เครือข่ายแรกคือ เครือข่ายอายุรแพทย์ระบบประสาท โดยตอนที่จบแพทย์ระบบประสาทใหม่ ๆ ในภาคอีสาน 20 จังหวัด มีแพทย์ระบบประสาทเพียง 9 จังหวัด เราก็เลยคิดว่าต้องร่วมมือกันเพื่อเพิ่มจำนวนและการกระจายตัวของแพทย์ระบบประสาทในภาคอีสาน ก็มี ศ. นพ. สุทธิพันธุ์ จิตพิมลมาศ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และผมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายนี้ ให้แพทย์ระบบประสาทสามารถติดต่อพูดคุย ให้บริการ ส่งต่อผู้ป่วย จัดกิจกรรมทางวิชาการ การศึกษาวิจัยร่วมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมที่ทำให้แพทย์มีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อทางด้านระบบประสาทมากขึ้น ปัจจุบันมีอายุรแพทย์ระบบประสาทกระจายตัวอยู่ในภาคอีสานเกือบครบ 20 จังหวัด และกระจายตัวมากขึ้นในหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศ แต่จำนวนแพทย์ระบบประสาทโดยรวมยังไม่เพียงพอ

cvm124 2

สำหรับเครือข่ายที่สองคือ เครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองในภาคอีสาน หรือ “I-San Stroke Network” ในการดูแลเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง มีบริการที่เรียกว่า Stroke Fast Track ที่จำเป็นต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดกับผู้ป่วยภายใน 270 นาที ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายสาขา เช่น อายุรแพทย์ระบบประสาท อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพื่อสร้างระบบที่ให้บริการทันเวลา ระบบนี้ได้พัฒนามาเกือบ 15 ปี จนมีเครือข่ายการให้บริการที่เข้มแข็งทุกภาคของประเทศ ซึ่งส่วนตัวก็รับผิดชอบดูแลในภาคอีสาน ซึ่งเราก็เห็นลูกศิษย์ที่จบไป ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ระบบประสาท อายุรแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่จบไปจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ช่วยกันพัฒนาระบบนี้จนสามารถให้บริการประชาชน จนเป็นที่ยอมรับ ช่วยให้ผู้ป่วยหายและลดความพิการลงได้อย่างมาก เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ

สุดท้ายผมภูมิใจที่เวลาออกเยี่ยมเครือข่ายแล้วได้พบว่า ลูกศิษย์ของเราได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน และได้ให้การดูแลคนไข้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานได้ชื่นชมลูกศิษย์ให้เราฟัง มันเป็นความภูมิใจของผู้ที่เป็นครูอาจารย์


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จหรือความภูมิใจ

ขอเน้นเรื่องความภูมิใจในแง่การขยายเครือข่ายต่าง ๆ ผมมองตัวเองว่าเป็นคนทำงานแบบ “กัดไม่ปล่อย ค่อย ๆ เริ่ม เพิ่มเครือข่าย” ความหมายของ “กัดไม่ปล่อย” คือ เป็นคนผูกติดกับปัญหาหรือสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่วางมือหรือเลิกกลางคัน มีปัญหาก็ค่อย ๆ แก้ไปไม่หยุดทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะสำเร็จ ความหมายของ “ค่อย ๆ เริ่ม” คือ เป็นคนที่เริ่มทำจากตัวเอง ทีมงาน โรงพยาบาลที่เราอยู่ แล้วค่อย ๆ ขยายเครือข่ายออกเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้โมเดลที่เราทำสำเร็จในโรงพยาบาลที่เราอยู่ ไปปรับปรุงขยายต่อในโรงพยาบาลอื่น ๆ และขยายต่อไปในจังหวัดอื่น ๆ ส่วนความหมายของ “เพิ่มเครือข่าย” คือ การขยายแนวคิดของเราไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้เครือข่ายมีขนาดใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้น


กว่าจะประสบความสำเร็จพบอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

ผมว่าอุปสรรคสำคัญอยู่ที่ “ความคิดของเราเอง” เราก็ต้องปรับวิธีคิดของเราว่า สิ่งต่าง ๆ หรืองานที่เราทำนั้นคือ โอกาส ไม่ใช่ภาระหรือวิกฤต ถ้าเราคิดได้แบบนี้ ทุกอุปสรรคจะกลายเป็นโอกาสให้เรา และทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ และหากท้อถอยก็ให้มองหรือจินตนาการว่า ถ้าสิ่งนั้นสำเร็จประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นมันคืออะไร ใครจะได้บ้าง ตัวเรา คนอื่น มากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาเป็นกำลังใจ ที่ทำให้เราผ่านวิกฤตในแต่ละขั้นตอนไปได้ นอกจากนี้แล้ว ผมอาจใช้การพักระหว่างทางบ้าง แต่ไม่ยอมแพ้ ไม่ล้มเลิก จะรวบรวมพลังให้พร้อมมากขึ้น แล้วกลับมาสู้ใหม่

ตัวอย่างของการจินตนาการถึงความสำเร็จนะ ย้อนกลับไปตอนปี พ.ศ. 2551 ตอนเริ่มมีระบบบริการ Stroke Fast Track ในประเทศไทย อุปสรรคต่าง ๆ มีมากมาย ทำให้บางคนท้อ บางคนคิดว่าทำไม่ได้ เราเริ่มด้วยการมองว่า ถ้าระบบนี้สำเร็จ ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายเป็นปกติได้ถึง 50% เราลองจินตนาการถึงวันที่ผู้ป่วยที่เสี่ยงพิการ เสี่ยงเสียชีวิต สามารถหายเป็นปกติได้เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พลังในตัวเราจะเพิ่มขึ้นมากมายในการที่จะแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นได้ ตลอดเส้นทางที่เราทำเรื่องนี้ในโรงพยาบาลของเราเอง รวมทั้งโรงพยาบาลในเครือข่ายต่าง ๆ และเรายังมีพลังที่จะออกไปสร้างขวัญและกำลังใจ ไปกระตุ้นลูกทีมต่าง ๆ ให้เขามองให้เห็นเหมือนกับเรา ให้เกิดความสุขในการทำงานเหมือนเรา

สำหรับตัวอย่างของการพัก เช่น ผมไปเรียนต่อต่างประเทศเรื่องโรคลมชักโดยเฉพาะ ก็มีงานที่จะผลักดันเกี่ยวกับเรื่องชักไม่ขับ ซึ่งก็ใช้เวลา 20 กว่าปี กฎหมายเพิ่งออกมาได้ใช้จริง ๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว คือถ้าเรายอมแพ้หรือล้มเลิก เรื่องนี้จะไม่สำเร็จ แต่เราอาจมีการพักไว้ก่อน แล้วรวบรวมพละกำลัง รวบรวมพันธมิตรสติปัญญาต่าง ๆ รวมทั้งกำลังใจกลับมาทำใหม่


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

ผมอยากออกไปเป็นคุณหมอโรงพยาบาลชุมชน สัก 3 ปี เพื่อให้มีประสบการณ์ตรง แล้วนำมาใช้ในการสอนนักศึกษาแพทย์และเรื่องอื่น ๆ ผมไม่มีโอกาสไปทำงานที่โรงพยาบาลชุมชน ไม่มีประสบการณ์ไปร่วมทุกข์สุขหรือกินนอนอยู่กับเพื่อน ๆ ในโรงพยาบาลชุมชน มีแค่โอกาสไปพูดคุยตอนทำงานเครือข่าย ทำให้เราอาจไม่เข้าใจวิถีการทำงานของแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนดีพอ ทุกวันนี้ใช้การสอบถามจากคุณหมอที่เราไปเยี่ยมเครือข่าย ว่าการทำงานของเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอะไร เราก็จะพยายามที่จะเรียนรู้ตรงนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะได้นำมาพัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่าง ในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

นายกฯ ชวน หลีกภัย เป็นต้นแบบความซื่อสัตย์ของนักการเมือง ชัดเจนมากว่าท่านเป็นคนที่จริงจังกับหน้าที่ของตนเอง และมีความซื่อสัตย์ สุจริต ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อมาเป็น อาจารย์ นพ. ประเวศ วะสี อาจารย์เป็นคนที่มีหลักการและแนวทางในการคิดการสอนลูกศิษย์ ถึงแม้ว่าผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์โดยตรง แต่มีโอกาสสนทนาพูดคุยกับท่านเป็นบางโอกาส เราก็ได้เรียนรู้สิ่งดี ๆ จากท่านอย่างมากมาย ต่อมาก็จะเป็น อาจารย์ นพ.พิศาล ไม้เรียง เป็นตัวอย่างด้านการตรวจดูแลผู้ป่วย ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักเรียนที่เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ปี 4 – 6 ไปฝึกอบรมอายุรแพทย์ก็ต้องเรียนกับอาจารย์ตลอด

และสุดท้ายผมขอยกให้เตี่ย เป็นต้นแบบในแง่ของการดูแลครอบครัว ทำงานหนัก มุ่งมั่นในการทำงาน มีความซื่อสัตย์ และทำงานเพื่อส่วนรวม บ้านผมแต่เดิมขายของในตลาด หน้าเกษตรกรรมต้องทำไร่มันสำปะหลัง เตี่ยก็พยายามส่งเสริมสนับสนุนลูก ๆ และทุกคนในครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ


มุมมองการแพทย์ประเทศไทย และอนาคต

ผมขอมอง 2 – 3 ประเด็น ประเด็นแรก คนไทยโชคดีที่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้คนไทยเกือบ 100% สามารถเข้าถึงการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้ ผมมองเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่อาจไม่สามารถนำไปใช้ที่ประเทศอื่นได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากงบประมาณที่มีอยู่จำกัดแล้ว ต้องอาศัยความทุ่มเทของผู้ปฏิบัติแบบเกิน 100% ในอนาคตเป็นไปได้ที่อาจมีการร่วมจ่าย แต่ไม่ใช่การร่วมจ่ายที่สถานพยาบาล อาจเป็นการร่วมจ่ายในรูปแบบอื่น สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นก็คือ ให้สิทธิการรักษาทั้ง 3 สิทธิมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ผมมองว่าปัจจุบันทั้ง 3 สิทธิเสมอภาคกันในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เหมือนกันเลยทีเดียว

ประเด็นที่สอง เรื่องแพทย์พาณิชย์ ผมว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่บ้างในทุกวงการ คือมีคนกลุ่มหนึ่งที่ประพฤติปฏิบัติตัวที่แตกต่างออกไป สำหรับผมในภาพรวมของประเทศไทยในส่วนนี้ยังน้อยมากคงไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมของระบบสุขภาพ

ส่วนประเด็นเทคโนโลยี ผมคิดว่าเทคโนโลยีจะไม่สามารถแทนแพทย์ได้ แต่จะเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้แพทย์ทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น ส่วนเทคนิคการดูแลคนไข้ เทคนิคการตรวจร่างกาย การสื่อสารกับคนไข้ การดูแลด้วยความใส่ใจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์ยังจำเป็นต้องมีอยู่

cvm124 1


ข้อแนะนำสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ รวมถึงแพทย์ในสาขาประสาทวิทยา

เรื่องแรก ควรมีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร หลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะทางวิชาการว่า สิ่งใดมีความเหมาะสม ถูกต้อง สามารถนำไปใช้ ได้จริงหรือไม่ เรื่องที่สอง ควรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี แต่ต้องไม่ลืมทักษะในการสื่อสาร หรือเข้าใจจิตวิญญาณของมนุษย์ เรื่องที่สาม ควรมีความใส่ใจในการเข้าใจคนที่มีอาการเจ็บป่วยเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความมั่นคงในสาขาวิชาชีพได้ดี

สำหรับแพทย์ในสาขาประสาทวิทยา ซึ่งอยู่ในระหว่างการอบรม นอกจากเรื่องทางวิชาการ เรื่องเทคโนโลยีแล้ว ควรเรียนรู้ทักษะการดูแลคนไข้อย่างใส่ใจจากอาจารย์ที่เราเรียนด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ถ้าเราสามารถที่จะเก็บประเด็นต่าง ๆ ทักษะในการดูแลคนไข้ ทักษะในการคิด ทักษะในการสื่อสารของอาจารย์แพทย์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีกับเราไปได้ สิ่งนี้จะทำให้แพทย์รุ่นใหม่ ๆ มีความเข้มแข็ง มีความเจริญก้าวหน้าในอนาคตได้อย่างแน่นอน

*** หมายเหตุ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานการณ์โควิด รูปประกอบคอลัมน์จึงเป็นรูปเก่า ที่ได้จากอาจารย์โดยตรง

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก