“ชีวิตมนุษย์เลอค่าเกินคำบรรยาย แต่คุณค่าของชีวิตคือ งานของเจ้าของชีวิตนั้น”
พญ. ปีนัชนี ชาติบุรุษ
นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 116 ปี 2563
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาศัลยกรรมทรวงอก
เริ่มเรียนหนังสือ ชั้นอนุบาลถึงประถม 4 ที่โรงเรียนของคุณยาย โรงเรียนดรุณพิทยา แล้วมาต่อประถม 5 ถึงมัธยม 5 ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2509 – 2517) ที่โรงเรียนประจำสตรีวัฒนาวิทยาลัย เหตุที่ชอบเรียนแพทย์ เพราะคุณแม่ชักนำว่าไม่มีใครสืบทอดวิชาชีพนี้จากคุณตา ศ. นพ. บัณเย็น ทวิพัฒน์ หนึ่งในปฐมคณาจารย์ของโรงเรียนแพทย์จุฬาลงกรณ์ นอกจากนี้คงต้องยกประโยชน์ให้หนัง series ในสมัยนั้น เรื่อง “หมอ Ben Casey” ที่นำร่องความเสียสละ ความโอบอ้อมอารี ที่มีพระเอกดีต่อคนไข้ ญาติ และผู้ร่วมงาน แถมยังบุคลิกสมาร์ท หน้าตาดีอีกด้วย
หลังจากจบมัธยม 5 แล้วสอบเข้าติดคณะวิทยาศาสตร์ (กายภาพบำบัด) มหาวิทยาลัยมหิดล รหัส 2517 ความที่อยากเป็นหมอ เมื่อจบแล้วจึงไปต่อที่ Cebu Doctors College of Medicine Philippines กลับมาเป็น Extern และ Intern ที่โรงพยาบาลราชวิถี หลังได้ใบประกอบโรคศิลปะ มาสมัครแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี ปี พ.ศ.2531 กับอาจารย์พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ ไม่เคยมีผู้หญิงย่างกรายเข้ามาใน field นี้มาก่อน ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม อาจารย์ยอมรับให้เข้ามาเป็น Free-training อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นการ training ศัลยกรรมทรวงอกต้องผ่านการเป็นศัลยแพทย์ทั่วไปก่อน เลยทำให้ได้วุฒิบัตร 2 ใบ ทั้งศัลยกรรมทั่วไป (General Surgery) และศัลยกรรมทรวงอก (Thoracic Surgery)
เหตุที่เลือกศัลยกรรม คงเหมือนแพทย์ทุก ๆ คนที่เลือกในวิชาที่เลือกเพราะมีครูอาจารย์เป็นแรงบันดาลใจ ครูที่เป็นต้นกำเนิดของความคิด อยากเป็นศัลยแพทย์หัวใจ คือ อาจารย์ นพ. พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ รวมทั้งสภาวะแวดล้อมในหน่วยงานที่เราผ่านเข้าไปเมื่อยังเยาว์ คือมีอาจารย์ นพ. สุรีย์ อรรถไพศาลศุรดี อาจารย์ นพ. สุปรีชา ธนะมัย chief resident หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านขณะนั้น คือ นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์ นพ. สุรพจน์ แสงโชติ นอกจากครูแล้ว ลักษณะงานมีความท้าทาย และเสร็จสมบูรณ์ในตัวของงานเอง
ขณะที่เป็นแพทย์ประจำบ้านปีสุดท้าย รุ่นนั้นมีกัน 2 คน งานหนักมากถึงมากที่สุด สลับกันอยู่เวร ไม่ได้กลับบ้าน หน่วยงานเริ่มทำ Heart และ Lung Transplantation และทำต่อเนื่องคนไข้จำนวนมาก อวัยวะหัวใจบริจาคก็มักจะมาตอนกลางคืน ทำเสร็จก็เช้าแล้ว กลับไปอาบน้ำที่หอแล้วมาขึ้น ward ทำงานต่อ เข้าช่วยผ่าตัดต่อบ่าย ๆ จะง่วง แทบขาดใจ แต่พอถูกอาจารย์ตำหนิด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ก็จะหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง น้ำตาไหลแทน การหลับช่างเป็นช่วงเวลาที่มี infenority กับตัวเอง หารู้ไม่ว่า มันบ่มเพาะความอดทน ความเพียรมาตั้งแต่นั้น
รางวัลที่อาจารย์พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ มอบให้เราทั้ง 2 คน นพ. พีรพัฒน์ มกรพงศ์ และเรา คือทุนคนละ 50,000 บาท ที่เงินออกมาจากกระเป๋าอาจารย์เอง ทั้งการติดต่อวางฐานให้เราทั้ง 2 ได้ไปดูงาน 1 เดือนเต็มในที่ที่เราเลือกเราไป UCLA พีรพัฒน์นั้นไป Boston ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้เห็นระบบของหน่วยงาน Cardiac Surgery ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มันเปิดโลกทรรศน์เปิดสติ และปัญญา เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการดำเนินชีวิตต่อ ๆ มาของเรา เมื่อกลับมาสอบวุฒิบัตรเสร็จแล้ว เรามุ่งมั่นที่จะไปเรียนต่อให้ได้ อาจารย์พันธุ์พิษณุ์ อีกนั่นแหละที่แนะนำเพื่อนของอาจารย์ Dr.Cedric Deal ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชา Cardiac Surgery ที่ Royal Northshore Hospital, Sydney Australia อาจารย์บอกว่าไปอยู่ที่นี่สักปี แล้วย้ายไปดูงานที่อื่น ๆ ด้วยนะ แต่เราติดที่ ติดเพื่อน กลายเป็นเราอยู่จนครบหลักสูตรเขา 2 ปี แล้วทำงานต่ออีก 1 ปี จึงกลับมารับราชการที่ รพ.ราชวิถี จนเกษียณอายุ
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
อันดับแรก เลยคือ ภูมิใจที่ได้ทำงานผ่าตัดรักษาคนไข้โรคหัวใจ คนไข้กว่าจะมาถึงเรา มักจะอาการหนักหนาสาหัส ผ่าตัดเสร็จดูแลจนปลอดภัยเห็นเขาเดินกลับบ้านได้ นี่คือความภูมิใจ ทำทุกวันภูมิใจทุกวัน
ถัดมา คือ ภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานที่รัก และเลือกเอง น้อยคนที่จะมีโอกาสเช่นนี้ ส่วนใหญ่ทำงานที่ไม่รัก ไม่ชอบ แต่พอทำไปได้เพื่อประโยชน์ของครอบครัว
ความภูมิใจอีกประการ คือ ตลอดชีวิตของเราไม่เคยพบพานคนไม่ดี คนเลว พบแต่ในหนัง ชีวิตจริงเราห้อมล้อมไปด้วยคนดี คนเอาจริงเอาจังกับงานหน้าที่ของตน และคนมีสติปัญญาเป็นเลิศ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่เคยถกเถียงกับเพื่อนร่วมงานนะ เถียงกันตลอด แต่นั่นเพื่อประโยชน์ของคนไข้ เพื่อเราจะได้ทำงานให้เสร็จ เรียกว่าแย่งกันทำงาน แย่งเตียงที่มีจำกัดกัน
สำหรับตำแหน่ง นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย อันนี้เป็นมากกว่าความภูมิใจ เป็นเกียรติยศ เป็นขัตติยะในความรู้สึกเป็นภารกิจที่ต้องทำให้สมบูรณ์ดีที่สุด เพื่อคนใหม่จะได้รับไม้ต่อ ๆ กันไป
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก ความมุ่งมั่น Focus ว่าเราเป็นใครทำอะไร หน้าที่ scope แค่ใด งานศัลยกรรมทรวงอกเป็นงานที่ไม่มีนาฬิกาเป็นตัวกำหนด แต่มีการเสร็จสิ้นของงานเป็นตัวกำหนด เราจะเลิกงาน 4 – 5 โมงเย็น เหมือนคนอื่นทั่วไปไม่ได้ หลายครั้งงานไม่เสร็จใน 24 ชม. ก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ หากไม่มุ่งมั่น จะไม่สามารถประสบผลสไเร็จได้
ปัจจัยที่สอง คือ Passion ความรักหลงใหลในงานที่ทำ จะเรียกว่าการทำงานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก เป็น labor of love ก็ได้
ปัจจัยสุดท้าย แต่เราคิดว่าสำคัญมาก คือ ความเพียร หรือ perseverance งานของเรามีความเสี่ยงต่อชีวิตคนไข้สูงมาก เพราะเราเข้าไปแก้ไขอวัยวะที่ควบคุมการมีชีวิตอุปสรรค ความยุ่งยากเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเราไม่มีความเพียรที่จะเรียนรู้ฟันฝ่าไป เราก็จะไม่สำเร็จในงานอีกเช่นกัน
เมื่อคุณมี 3 สิ่งนี้ จะทำอะไรบนโลกใบนี้ก็ทำได้หมด เพศไม่ได้เป็นตัวชี้ชะตาว่าคุณทำอะไรได้หรือไม่ได้
กว่าจะประสบความสำเร็จ มีอุปสรรคอย่างไร
งานผ่าตัดหัวใจเป็นงานละเอียด และมีความเสี่ยงสูง ทำงานแบบเก่งคนเดียวไม่ได้ นี้คืออุปสรรคใหญ่ เราต้องไปด้วยกัน ทั้งทีมใหญ่ ต้องถึงพร้อมด้วยความรู้ รู้วิชา รู้หน้าที่ รู้รับผิดชอบ เวลามีปัญหา ก็มักได้อาจารย์ผู้ใหญ่เข้าช่วยหรือเพื่อนแพทย์ด้วยกัน บางทีก็ต้องโทร.หาอายุรแพทย์โรคหัวใจที่ส่งคนไข้ต่อมาให้เรา
สำหรับงานบริหารเป็นเรื่องปวดหัว ได้ทีมงานอีกนั่นแหละ
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากแก้ไขเรื่องใด
ถ้าย้อนกลับไปได้ จะแก้ไขเรื่องการสื่อสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก การสื่อสารกับคนที่ทำงานร่วมกับเรา มีหลายระดับ เวลาทำงานใหญ่ อย่างการผ่าตัดหัวใจ เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีม ทุกคนมีความสำคัญหมด ถ้าสื่อสารไม่ดี ก็ถือว่ามีจุดบอดในการสื่อสาร เราคิดว่าพูดอย่างนี้ แต่คนฟังเขาจะเข้าใจไหม รู้สึกว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ละเลย ถ้าย้อนกลับไปได้ จะระมัดระวังจุดนี้ให้มาก จะไตร่ตรองในคำพูดให้มาก ทั้งคำพูดทางกาย คำพูดทางวาจา จะคิดให้หนัก คิดไปข้างหน้า คิดไปข้างหลัง คิดให้รอบ ๆ คิดไปให้ไกล ไม่ใช่คิดแก้ปัญหาเฉพาะวันนี้ หรือคิดแก้ปัญหาเฉพาะปีหน้า
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรก นพ. พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ ท่านเป็นคนรับเราให้เข้ามาเทรนศัลยกรรมทรวงอก ท่านเป็นต้นแบบในการเป็นปราชญ์ แพทย์ นักพัฒนา ผู้นำ ผู้บุกเบิก ในสมัยของอาจารย์การผ่าตัดหัวใจยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่ออาจารย์กลับมาจากอังกฤษก็เป็นผู้บุกเบิก งานศัลยแพทย์ทรวงอก รพ.ราชวิถี ในขณะที่ทุกคนยังไม่คิดว่าการผ่าตัดหัวใจจะช่วยคนไข้ได้และท่านเป็นครู เป็นต้นแบบในการทำงาน อาจารย์จะมาที่ตึกสอาด ศิริพัฒน์ ทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า มาราวด์ มาสอน ดูแลคนไข้จนถึง 4 ทุ่ม ถ้าวันไหนมีการทำ Transplant อาจารย์จะไม่กลับ เสียสละ มุ่งมั่น หลงใหล และเพียรพยายาม จนหน่วยงานนี้เป็นที่รู้จักไปถึงต่างประเทศ
ถัดมา คือ ศ.เกียรติคุณ นพ. ปริญญา สากิยลักษณ์ เป็นต้นแบบทางด้านการทำงานให้กับสมาคม เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับสมาคม และดูวิธีการใช้ชีวิตของอาจารย์หลังเกษียณ รู้สึกประทับใจ รู้สึกว่า ถ้าเราถึงเวลาเกษียณ ก็อยากจะเดินตามอาจารย์
คนที่สาม นพ. พีระพัฒน์ มกรพงศ์ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก รพ.ราชวิถี เป็นต้นแบบทางด้านสติปัญญา มีความอดทน เสียสละในการทำงาน เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ อาจารย์เป็นผู้ที่ทำให้ดูว่า การตั้งมูลนิธิสามารถช่วยผู้ป่วยได้จึงเดินตามเพื่อน โดยตั้งมูลนิธิดวงใจใหม่ ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงาน ให้สามารถผ่าตัดหัวใจผู้ใหญ่ให้มากขึ้น
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
“ชีวิตมนุษย์ล้ำค่ามาก แต่คุณค่าของชีวิตก็คือ งานของเจ้าของชีวิต” หมายความว่า เราควรรู้จักใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กับงาน ไม่ใช่จะบ้างานจนไม่รู้จักใช้ชีวิต หรืออาจจะลืมคนที่เขามีชีวิตอยู่เพื่อเรา เช่น ครอบครัว หลายครอบครัวที่มีภรรยาอยู่เพื่อลูก เพื่อสามี หรือบุพการีที่เขารอเราอยู่ที่บ้านทั้ง 2 อย่างมีค่า เราจำเป็นต้องหาจุดยืนตรงกลางที่จะไม่ทำให้สูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไป ต้องหาบาลานซ์ของการใช้ชีวิต และการทำงาน
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
ปัจจุบันการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมาก ทันสมัย การพัฒนาทางการแพทย์เทียบเท่ากับตะวันตก ทิศทางในอนาคตที่อยากเห็นประเทศไทยเป็น คือ เรื่องความเสมอภาคของทุก ๆ คน ประชาชนไทยที่สามารถเข้าถึงการแพทย์ทุกระดับ ปัจจุบันก็สามารถทำได้ดีมาก เรามีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม ถึงแม้ทำงานเป็นเอกเทศก็สามารถประกันตนได้ เข้าถึงการแพทย์ได้ ก็ทำมาดีระดับหนึ่ง แต่คิดว่ายังไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้เราถึงต้องมีมูลนิธิต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วย เข้ามาพยุง
เรื่องสถานที่ของรัฐมารองรับกับประชากรที่อายุมากกับอายุน้อย ยังไม่มีเรายังใช้หน่วยเล็ก ๆ คือ ครอบครัวดูแลอยู่ อย่างเด็กเล็กที่คุณแม่ต้องทำงานคุณแม่จะเอาลูกไว้ที่ไหน
เรื่องระบบการป้องกัน อยากเห็นการให้ความรู้ในเรื่องสาธารณสุขมูลฐานเป็นประจำทุกวัน ซึมซับเข้าไปตั้งแต่เด็ก จะได้รู้ว่าการแยกขยะเป็นอย่างไร มีความสำคัญกับสุขภาพอย่างไร การทำความสะอาดตัว การเข้าห้องน้ำ สุขลักษณะของห้องอาบน้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วม การรับประทานอาหารที่ได้คุณภาพ อาหาร 5 หมู่เป็นอย่างไร ยา วัคซีน ทำสิ่งสำคัญที่เป็นเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ที่จะเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชน ให้ตั้งแต่เด็ก โดยใช้มีเดียต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรของรัฐเข้าไปกระจายในบ้าน ชุมชน และโรงเรียน
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
เมื่อคุณเลือกที่จะเรียนแล้ว ก็ต้องตั้งจิตใจให้มั่นคง ทุกสิ่งไม่มีทางลัด มีแต่ไปวันต่อวัน ตามกำหนดเวลา จะรีบร้อนให้มีชื่อเสียงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลา และต้องมีจำนวนคนไข้มากพอที่จะทำให้มีประสบการณ์ เราจะถึงจุดที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องมีความอดทน พากเพียรพยายาม ทำในสิ่งเดียวกันทุกวัน จนกว่าจะประสบความสำเร็จ
สำหรับแพทย์ศัลยศาสตร์ทรวงอก จะต้องมีความมุ่งมั่น รัก หลงใหลในสิ่งที่ตนทำ และมีความเพียร งานการศัลยกรรมไม่ใช่งานดูคอมพิวเตอร์ ดูหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นงานที่จะต้องเจอกับคนไข้ ต้องแตะต้องเขา รับรู้เขา เขาจะเป็นคนบอกว่า เขารู้สึกอย่างไร เวลาทำการผ่าตัดเสร็จ จะต้องติดตามผลงานการผ่าตัดของตนเอง โดยดูสัญญาณต่าง ๆ ที่ติดตามตัวคนไข้ สัญญาณเหล่านี้เราสามารถดูได้ แต่อย่างหนึ่งที่เราดูไม่ได้ คือ ความรู้สึกของคนไข้ความรู้สึกเจ็บปวด ไม่สบายตัว ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ขึ้นจอ ต้องถามกับคนไข้ เราจะถามก็ต่อเมื่อเราสนใจ อยากให้เขาหาย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่บอกถึงความมุ่งมั่น โฟกัส Passionate กับคนไข้ และพากเพียรพยายาม