“ทำอะไรไปอย่าเห็นแก่ประโยชน์ของเราส่วนเดียว บางครั้งสิ่งนั้นอาจเป็นโทษกับคนไข้ได้”
รศ. นพ. สุพจน์ ศรีมหาโชตะ
สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุปนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 118 ปี 2564
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคหัวใจ
เรียนมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ที่บ้านมีพี่น้อง 9 คน พี่ชายเป็นวิศวกร 3 คน ผมสนใจเรียนแพทย์ เพราะได้ช่วยรักษาคนไข้ และที่บ้านสนับสนุน ตอนนั้นพี่ชายเรียนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 คน พอได้ขึ้นไปเที่ยวแล้ว รู้สึกชอบบรรยากาศ วิวสวย จึงตัดสินใจเอนทรานซ์เข้าที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเรียนได้ทำกิจกรรมไปด้วย ส่วนใหญ่เล่นกีฬา เล่นฟุตบอลกับตะกร้อ และช่วยงานของชั้นปี พอจบ 6 ปี เป็นแพทย์ใช้ทุน เหมือนเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีก 4 ปี
เหตุที่สนใจเรียนอายุรศาสตร์ เพราะอยากเรียนด้านโรคหัวใจตั้งแต่แรก ไม่ค่อยชอบศัลยกรรมและ สูติฯ ผมชอบอายุรกรรมมากกว่าเด็ก เพราะเด็กตัวเล็ก ดูบอบบางไป เหตุที่สนใจ cardio เพราะมีแรงบันดาลใจ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นแพทย์โรคหัวใจ และคนที่เป็นไอดอล คือ ศ.เกียรติคุณ นพ. เกษม วัฒนชัย ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 1 อาจารย์เป็นผู้ช่วยคณบดี ท่านอยู่หน่วยหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ท่านเป็นคนน่ารักมาก เข้ากับ นศพ. ได้ดี เมื่อผมได้เป็นแพทย์ใช้ทุนอายุรศาสตร์ ท่านเป็นอธิการบดี แต่ก็ยังมาสอน มามอร์นิ่งรีพอร์ททุกเช้า พอ 8 โมง ท่านจึงกลับไปที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่อธิการบดีต่อ ตอนค่ำวันอาทิตย์ท่านจะมาราวน์ มาสอนตรวจร่างกาย 1 – 3 ทุ่ม อาจารย์จะมีโครงการไปออกหน่วยของโครงการหลวงตรวจชาวเขาทุกเดือน ถ้าผมไม่ได้อยู่เวรก็จะติดตามท่านไปออกหน่วยรักษาโรคทั่วไปด้วยอีกเหตุผลที่ชอบทางด้านหัวใจ เพราะจับต้องได้ realistic ทำและพิสูจน์ได้ว่า เป็นแบบนี้จริง อย่างบางโรคต้องรอ ต้องคิดก่อน แพทย์หัวใจถ้ารักษาดี จะเห็นผลค่อนข้างเร็ว คนไข้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตอนนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังไม่เปิดรับสาขาโรคหัวใจ พอดีมีรุ่นพี่ที่จบแพทย์ใช้ทุนที่เชียงใหม่มาอยู่ที่ จุฬาฯ แนะนำให้มาเรียน และ รศ. พญ. คุณหญิง พึงใจ งามอุโฆษ หัวหน้าหน่วยในขณะนั้น ใจดีรับเราไว้ มาเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอีก 2 ปี หลังจากนั้น ยังไม่ทันจะเรียนจบ พอดีมีตำแหน่งว่าง อาจารย์จึงบรรจุให้ก่อน ทำงานอยู่สักพักไปเรียนต่อที่ Leiden University Medical Center, Netherlands 1 ปี ไปศึกษาทางด้านการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ช่วงนั้นการทำบอลลูนในคนไข้กล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันในบ้านเราแทบจะไม่มี มีแต่ยุโรปที่ทำ จึงตัดสินใจไปยุโรป ตอนอยู่ที่ จุฬาฯ เราได้ทำบอลลูนเพื่อฝึกสกิลระดับหนึ่ง พอไปถึงจึงง่ายและสามารถดูแลคนไข้ได้ หลังจากนั้น กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ รพ.จุฬาฯ
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดเริ่มจาก ได้ช่วยคนไข้และคนไข้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน อย่างคนไข้ที่เราทำบอลลูนกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เจ็บหน้าอกมา ช็อก บางคน arrest พอช่วยเขาได้ รู้สึกภูมิใจ และรู้สึกดีที่ได้ช่วยเขาให้หาย กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวได้
ภูมิใจที่สอง ได้อยู่ในทีมถวายงาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่วังสวนจิตรลดา และได้ถวายงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ตามเสด็จพระองค์ท่านไปทำพระราชกิจในต่างจังหวัด
ภูมิใจที่สาม ทำสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยรักษาคนไข้ได้ และเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศของเราเอง ผลงานชิ้นแรกได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์ คิดค้น ประจำปี 2560 “ระดับดีมาก” (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) ผลงาน “ลิ้นหัวใจเทียมชนิดเนื้อเยื่อไฮดร้าสำหรับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยไม่ต้องผ่าตัด” (HYDRA Bioprosthesis Valve for Transcatheter Aortic Valve Implantation (TAVI)) จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผลงานชิ้นที่สอง การวิจัยเรื่องของอุปกรณ์สำหรับปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้ายที่เรียกว่า OMEGA left atrial appendage (LAA) occlude ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่เป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์/อัมพาต ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation – AF) โดยได้ร่วมออกแบบกับ บริษัท แวสคูล่า อินโนเวชั่น ประเทศไทย และได้รับมาตรฐานของยุโรป CE MARK
นอกเหนือจากนั้น ปัจจุบันได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การที่เราได้ตำแหน่งมากขึ้นก็ต้องทำงานมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ไม่ใช่ได้ตำแหน่งอย่างเดียว แต่ต้องมีภาระที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน สิ่งที่อยากจะทำคือ อยากให้คนไข้สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) ทุกคนที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งอันนี้คงต้องร่วมกับ สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย และสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยด้วย โดยอาจจะต้องทำ guideline มาตรฐานการรักษาออกมา เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ในทุก ๆ สิทธิ์การรักษา
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก การพัฒนาตนเอง เรียนรู้อยู่เสมอการดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่องจะนำไปสู่การเรียนรู้ของเรา และการเรียนรู้ของลูกศิษย์ ในที่สุดก็จะมีการพัฒนาความรู้ความสามารถมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น นำประสบการณ์นี้มาต่อยอด จะรู้ว่าต้องทำงานวิจัยอะไรบ้าง จะต่อยอดส่วนไหนได้ นี่เป็นประสบการณ์จริงที่จะต้องเก็บสะสม ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ทันที
ปัจจัยที่สอง ไม่ปฏิเสธงาน ใครส่งคนไข้มาส่วนมากจะไม่ปฏิเสธ เขาจะรู้ว่าพอเรารับเขา ก็จะส่งมาเรื่อย ๆ ถ้าปฏิเสธ เขาจะรู้สึกไม่ดี ไม่อยากส่งคนไข้มาให้เราอีก เคสพวกนี้ทำให้มีประสบการณ์ และทำให้ลูกศิษย์ของเราได้ศึกษา เพื่อที่จะเอาประสบการณ์ตรงนี้ไปรักษาคนไข้ต่อไปเมื่อเขาเรียนจบแล้ว บางครั้งเราต้องมองว่าเหตุผลที่เขาส่งมาคือ เขาต้องการความช่วยเหลือ ถ้าไม่ช่วยเขา เขาก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน นี่เป็นเหตุผลว่า คนที่เขาติดต่อขอส่งตัวคนไข้มา ผมจะไม่ค่อยปฏิเสธ ช่วยได้ก็จะช่วย
ปัจจัยที่สาม พยายามทำสิ่งที่ทำได้ให้เต็มที่ เต็มศักยภาพ ศักยภาพเราแค่ไหน ก็พยายามทำให้เต็มที่ นอกจากนี้ยังต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้การได้รับความร่วมมือที่ดีของผู้ร่วมงานจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ อันนี้สำคัญมากเช่นกัน
ในปีนี้ได้รับเกียรติจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นอายุรแพทย์ดีเด่น ด้านวิชาการ ซึ่งอาจมาจากการทำงานวิจัย โดยอาศัยงานบริการของเรามาต่อยอดเขียนเป็นงานวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ รวมทั้งการทำนวัตกรรมลิ้นหัวใจเทียมที่ไม่ต้องผ่าตัดและอุปกรณ์ปิด left atriumป้องกันการเกิด stroke นอกจากนี้ผมจะเดินทางไปสอนน้อง ๆ ในต่างจังหวัดเป็นประจำ ช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องของ coronary intervention แต่ตอนหลัง ๆ จะเป็นคนไข้ประเภททำ Structural heart intervention คือการปิดรูรั่วต่าง ๆ การขยายลิ้นหัวใจในคนไข้รูมาติก ก็พยายามไปสอนเขา เพราะว่าวิวัฒนาการเกี่ยวกับการรักษา Structure heart มันเกิดมาไม่นานนัก และน้อง ๆ ไม่ค่อยมีประสบการณ์ ตอนเรียนเขาก็ไม่ค่อยมีเคสให้ทำมากนัก เราทำมาตั้งแต่ในสัตว์ทดลองและทำกับคนไข้ พอมีประสบการณ์พอสมควรก็ไปช่วยน้อง ๆ ได้เรียนรู้ เพื่อเขาจะได้พัฒนาและสามารถทำได้ด้วยตนเองใน cath lab ของเขา
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จเจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่ผมเป็นคนที่พยายามไม่ค่อยคิดว่ามันเป็นอุปสรรคมาก โดยพยายามหาทางแก้ไขไป อย่างอุปสรรคเรื่องของคน การดีลกับคนบางทีก็ยาก จะให้เขาทำตามที่เราต้องการมันไม่ง่ายเลย บางครั้งก็มีขัดแย้งกันบ้าง ต้องคุยกัน แต่โชคดีที่ในทีมไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ที่มีอยู่บ้างจะเป็นเพราะคน งานหนักพอทนได้ แต่คำพูดคนบางครั้งก็เอาเรื่องอยู่ อาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่สนใจ ใครว่าอะไรก็ว่าไป เราทำตามสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง
อีกอุปสรรคที่เจอ ถ้ามีเคสยากที่ทำไม่ได้ หรือทำแล้วคนไข้มีปัญหา บางทีมีเหมือนกันที่ทำให้เขาเสียชีวิต คนไข้อาการไม่ค่อยดี การตัดสินใจช้า แต่พยายามให้มันเกิดน้อยที่สุด นี่เป็นบทเรียนของเรา
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ถ้าย้อนเวลากลับไป ผมรู้สึกว่าที่ทำมามันดีพอใช้ได้ แต่ว่าถ้าย้อนกลับไปก็คงทำแบบเดิม เป็นแพทย์โรคหัวใจแบบนี้
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรก คือ ศ.เกียรติคุณ นพ. เกษม วัฒนชัย อาจารย์เป็นคนที่ดีมาก ติดดิน น่ารักมาก เป็นคนเก่ง อาจารย์เป็นต้นแบบของความเป็นครู พูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเอง สอนหนังสือเก่งมาก อ่านหนังสือรอบเดียวสามารถพูดได้เป็นฉาก ๆ พูดอธิบายให้เข้าใจ สอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เราพยายามทำก็ยังทำไม่ได้ ความจำท่านดีมาก สามารถที่จะรวบรวมข้อมูลและถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างดี ท่านเป็นคนที่มีคุณธรรม และท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี
คนที่สอง คุณแม่ ท่านเป็นคนที่ใจดีมาก เป็นต้นแบบของคนที่ขยัน ช่วยเหลือคนอื่นตลอด ท่านไม่มีความรู้อะไร ไม่ได้เรียนจบสูง ท่านเป็นคนรักลูก ขยัน ดูแลลูกได้เป็นอย่างดี
คนที่สาม รศ. พญ. คุณหญิง พึงใจ งามอุโฆษ เป็นหัวหน้าหน่วยที่รับผมเข้ามาเรียน และให้ผมเป็นอาจารย์ที่ จุฬาฯ อาจารย์เป็นคนใจดี ไม่เคยดุ ไม่เคยว่าใคร ดูแลเอาใส่ใจพวกเราเป็นอย่างดี
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ทำทุกอย่างให้เต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้ ทำให้ดีที่สุด ได้แค่ไหนก็แค่นั้น อย่างน้อยเราก็ได้ทำเต็มความสามารถของเรา และต้องนึกถึงใจเขาใจเรา อย่างการส่งคนไข้มาให้เราดูแลก็เท่ากับว่า เขาไม่สามารถที่จะดูแลคนไข้ต่อได้ เขาต้องการความช่วยเหลือ สิ่งสุดท้ายคือ การตรงเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลามีค่า เช่น เวลาไปออก OPD ผมจะพยายามออกให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลา นอกจากจะติดภารกิจจริง ๆ เพราะถ้าไปสาย คนไข้ต้องรอเรา และเขายังต้องรอยาอีกกว่าจะได้กลับบ้าน เขามีภารกิจของเขา เราก็มีภารกิจของเรา เวลาเขากับเวลาเราก็เท่ากัน ถ้าเราช้าครึ่งชั่วโมง เท่ากับว่าเขาก็ช้าไปครึ่งชั่วโมง
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
มองการแพทย์ของเมืองไทยในส่วนของโรคหัวใจ มีหลายสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะระบบบริหารการจัดการของเรายังไม่ดีพอ รวมทั้งตัวแพทย์เองก็ยังไม่ดีพอ แพทย์ที่ดีก็มี แพทย์ที่เห็นแก่ประโยชน์บางอย่างก็มี ทำอะไรไปอย่าเห็นแก่ประโยชน์ของเราส่วนเดียว บางครั้งสิ่งนั้นอาจเป็นโทษกับคนไข้ได้ โดยเฉพาะการทำ intervention หลายครั้ง มันไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการทำ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงของคนไข้โดยไม่จำเป็น การทำหัตถการต่าง ๆ จึงต้องดูความเหมาะสม มีข้อบ่งชี้ที่ถูกต้อง
ทิศทางในอนาคต ระบบสุขภาพของเราดีอยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้พัฒนาไปได้มากกว่านี้ ทำให้คนไข้เข้าถึงบริการที่ดีมีคุณภาพ โดยที่ค่าใช้จ่ายเหมาะสม ขณะนี้ผมได้มีโอกาสช่วยงานของสปสช. ในเรื่องการควบคุมคุณภาพและการพัฒนาระบบบริการของห้องสวนหัวใจ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อคนไข้จะได้เข้าสู่ระบบบริการและมีความปลอดภัย
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไปและแพทย์ในสาขาโรคหัวใจ ถ้าเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์จะทำงานหนักน้อยกว่าแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ แต่เรามีหน้าที่ด้านการเรียนการสอนมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องยึดหลักคุณธรรม การดูแลด้วยใจ เอาคนไข้เป็นหลัก และแพทย์รุ่นใหม่ต้องมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน