“เราก็มีคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เวลาดูคนไข้ขอให้ดูแบบองค์รวม เพราะคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังจะมีปัจจัยหลายอย่าง”
รศ. พล.ต.หญิง พญ. ประไพพิมพ์ ธีรคุปต์
ประธานคณะอนุกรรมการวารสาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ผู้อำนวยการกองการศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 75 ปี 2559
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคไต
เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ตอนนั้นเลือกเรียนแพทย์ เพราะครอบครัวอยากให้เรียนและส่วนตัวก็ชอบทางด้านนี้ด้วย เพราะคิดว่าแพทย์จะช่วยคนอื่น ๆ ได้ ตอนสอบติดที่มหิดล เรียนคณะวิทยาศาสตร์ 2 ปี หลังจากนั้นก็เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอีก 4 ปี
จบแล้วก็ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า 1 ปี พอเรียนจบก็คิดว่าไหน ๆ มาอยู่ตรงนี้แล้ว เลยเลือกทหารไปเลย โดยเป็นแพทย์ใช้ทุนทำงานอยู่ในหอผู้ป่วยอายุรกรรมที่ รพ.อานันทมหิดล จ.ลพบุรี 2 ปี ตอนนั้นรู้สึกว่าเราไม่ค่อยชอบเท่าไร คิดว่าเราชอบในสาขาเด็กมากกว่าอยากเป็นกุมารแพทย์ เพราะคนไข้เด็กพอเขาป่วยก็ป่วย พอหายปุ๊บ ก็จะหายเร็ววิ่งเล่นได้เลย พออยู่กับเด็ก ๆ ก็รู้สึกสดชื่น ก็มาเทรนเป็นกุมารแพทย์ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า 3 ปี แล้วก็กลับไปใช้ทุนเป็นกุมารแพทย์ทั่วไป ที่รพ.อานันทมหิดล จ.ลพบุรี อีก 2 ปี แล้วจะไปเป็นอาจารย์ก็ต้องเลือกเฉพาะทาง พอดีช่วงนั้นท่าน อาจารย์ พญ. วณิช วรรณพฤกษ์ และอาจารย์ พญ. ยุพาพิน จุลโมกข์ ที่อยู่สาขาโรคไตมาชักชวน เราก็ประทับใจในตัวอาจารย์ทั้งสองท่านอยู่แล้ว เลยตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านไตเด็ก
หลังจากที่เป็นกุมารแพทย์ทางด้านโรคไต ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า ก็ได้ทุนของกองทัพบก ไปฝึกอบรมกุมารทางด้านโรคไตเพิ่มเติม ที่ Free University เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เน้นหนักทางด้านการรักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นไตวายเรื้อรัง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการปลูกถ่ายไต ซึ่งตอนนั้นคนไข้เด็กในไทยยังทำกันเพียงการล้างทางช่องท้อง เมื่อฝึกอบรมเสร็จก็กลับมาอยู่ รพ.พระมงกุฎเกล้า มาเริ่มเรื่องของการทำหน่วยไตเทียมในเด็ก ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุด คือ เรื่องของการได้สานต่องานจัดตั้งหน่วยไตเทียมเด็กแห่งแรกของประเทศไทย โดยอาจารย์ พญ. ยุพาพิน ได้ริเริ่มโครงการหน่วยไตเทียมเด็ก อาจารย์ พญ. วณิช ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการกอง ท่านก็ให้การสนับสนุนโครงการ พอเรากลับมารับช่วงต่อก็มาเริ่มทำการฟอกเลือดในเด็กด้วยเครื่องไตเทียม นอกจากนี้ยังทำเรื่องการปลูกถ่ายไต เป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ถือเป็นการริเริ่มรักษาคนไข้เด็กไตวายเรื้อรังได้อย่างครบวงจร
ความภูมิใจที่สอง การได้รับความไว้วางใจให้ก้าวมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองการศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและได้รับพระราชทานยศพลตรี เป็นอีกสิ่งที่ภูมิใจ
ความภูมิใจที่สามคือ เรื่องครอบครัวที่เข้าใจและสนับสนุน เราก็ทำงานเยอะ ค่อนข้างหนักในชีวิตความเป็นแพทย์และเป็นครูบาอาจารย์ เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด บางทีก็กลับบ้านค่ำมืด บางทีก็ดูคนไข้ดึก ๆ ดื่น ๆ ครอบครัวก็สนับสนุนและเข้าใจ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีลูก 2 คนเขาก็น่ารักเป็นเด็กดี เรียนดี ประพฤติดี ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ
นอกจากนั้นก็จะเป็นความภูมิใจที่เห็นคนไข้ที่เราปลูกถ่ายไตเป็นรายแรก ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า เติบโตเป็นหนุ่มแล้ว เรียนจบ มีงานมีการทำสำหรับการเรียนการสอนทางด้านไต ก็ดำเนินการต่อเนื่องจากอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน โดยสานงานหลักสูตรฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญ กุมารแพทย์ทางด้านไตเด็ก เป็นหลักสูตรรุ่นหนึ่งของประเทศ ซึ่งมีที่จุฬาฯ ด้วย ในส่วนของงานสมาคมโรคไตฯ ก็ทำให้เราเปิดโลกทัศน์มากขึ้น เพราะได้รู้จักกับหมอไตผู้ใหญ่ซึ่งมีจำนวนเยอะมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจัยที่นำไปสู่ความภูมิใจและ ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากอะไร
น่าจะเกิดจากการมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และการที่เราเป็นคนใจเย็นทำให้การติดต่อประสานงานกับใครค่อนข้างที่จะราบรื่น หลาย ๆ ครั้งก็จะมีการนำเอาหลักธรรมเข้ามาใช้ การดูเหตุดูผลในแต่ละเรื่อง อีกทั้งเห็นแบบอย่างของความพากเพียร ความมุมานะของหลาย ๆ คน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้เราได้มาอยู่ที่จุดนี้
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง และเอาชนะได้อย่างไร
เราต้องไปดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มันติดขัด และเราก็ไปค้นให้พบปัญหานี้ก่อน เหมือนหลักธรรม อริยสัจ 4 แล้วเข้าไปแก้ยกตัวอย่างอุปสรรคของการตั้งหน่วยไตเทียมในเด็ก ตอนนั้นก็เป็นเรื่องของกำลังพล เพราะต้องมีพยาบาล เจ้าหน้าที่ เราก็ต้องเน้นกันตั้งแต่การเขียนโครงการ วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย นำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเห็นว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร ทั้งกับคนไข้ การศึกษาและความเจริญก้าวหน้าของสถาบัน เราต้องไปศึกษาหาความรู้เรื่องทางเศรษฐกิจ จุดคุ้มทุน เราจะไม่หยุดจะศึกษาและเดินหน้าแก้ไขจนประสบความสำเร็จ
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ในบางเรื่องอยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้คงเป็นเรื่องของอยากจะแบ่งเวลาให้ดีกว่านี้ ตอนนี้เราเป็น รศ. ซึ่งจากเดิมเคยมีความตั้งใจว่าจะให้มีผลงานมากกว่านี้บางทีในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะแบ่งเวลาไม่ค่อยดี ช่วงหลังซึ่งมีงานบริหารมาเยอะ จนไม่สามารถทำให้เราสานต่อทำเรื่องงานวิจัยต่อไปได้ ทำให้เราไม่สามารถทำเรื่องของตำแหน่งทางวิชาการได้
“อาจารย์แพทย์หลาย ๆ ท่าน แต่ละท่านจะมีความโดดเด่นแตกต่างกัน เราจะได้เลือกส่วนที่เด่น ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเรา”
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน
อันดับแรกเลยคือ คุณพ่อคุณแม่ ในการดำเนินชีวิตเขามีครอบครัวที่อบอุ่น ท่านมีการครองเรือนที่ดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน คุณพ่อเป็นคนใจเย็น คุณแม่เป็นคนใจร้อน ทั้งสองท่านมีความมุมานะในการทำงาน อันดับที่สองคือ อาจารย์แพทย์หลาย ๆ ท่าน แต่ละท่านจะมีความโดดเด่นแตกต่างกัน
เราจะได้เลือกส่วนที่เด่น ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเรา อาทิ ศ.เกียรติคุณ พล.ต. หญิง พญ. วณิช วรรณพฤกษ์ ท่านเป็นกุมารแพทย์โรคไตเป็นนักวิชาการที่เก่งมาก ท่านมีความรู้เรื่องของไตเด็กเป็นอย่างดี ท่านไม่หยุดนิ่ง ท่านจะค้นคว้า ทำวิจัย ดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างดีมาก และ ศ.คลินิก พล.ต.หญิง พญ. ยุพาพิน จุลโมกข์ ท่านดูแลคนไข้เป็นอย่างดี มีความเป็นกันเอง ท่านเป็นคนสนุกสนาน อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ทำอะไรต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ผ่าน ๆ ไป ต้องตั้งใจทำทุกอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร
การแพทย์ของเมืองไทย ถ้าดูด้านวิชาการ บ้านเรามีคนเก่งเยอะ ก็น่าจะมีความก้าวหน้าไปได้เรื่อย ๆ แต่ยังมีปัญหาอยู่หลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจริยธรรม หรือด้านของการติดต่อสื่อสาร ซึ่งตอนนี้ต้องกลับมาคิดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือการเลือกอะไรที่เหมาะสมกับสภาพของบ้านเรา
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป ถ้าจะประสบความสำเร็จจะต้องขยันและทุ่มเท คือตั้งใจทำงานจริงจัง ถ้าเราทำอะไรฉาบฉวยแล้วหวังที่จะให้มีความสำเร็จคงไม่ได้
สำหรับแพทย์ในสาขาโรคไต เนื่องจากว่าความรู้มันก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เร็วมาก วิทยาการทางด้านโรคไตไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นนอกจากการทำงานทุ่มเทที่แพทย์ทุกคนจะต้องทำอยู่แล้ว ต้องติดตามอัพเดทตัวเราตลอดเวลา ติดตามความรู้ความก้าวหน้าตลอดเวลา จะติดตามความรู้โดยวิธีไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเข้าประชุมก็ได้ หรือว่าอ่านเอง ทำวิจัยก็ได้ แต่ว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ คงต้องติดตามความรู้ทางวิชาการ ข่าว และในขณะเดียวกันเราก็มีคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เวลาดูคนไข้ขอให้ดูแบบองค์รวม เพราะคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังจะมีปัจจัยหลายอย่าง คือ เราไม่ใช่มุ่งแต่จะรักษาโรค แต่จะต้องดูองค์รวมด้วย อย่างเช่น คนไข้ทำไมไม่มาหาเรา นัดแล้วไม่มา สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร พื้นฐานครอบครัวทางบ้านเขาเป็นอย่างไร อย่างเด็กใครเป็นผู้เลี้ยงดูเขา ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร คือต้องดูแลผู้ป่วย รักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม