“ผลออกมาดีก็ดี ผลออกมาไม่ดีเราก็แก้ไข ถ้าเรายึดติดเราจะต้องดีทุกอย่าง บางครั้งออกมาไม่ดีก็จะทำให้เราเสียใจ”
อาจารย์ พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์
นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
ขอเริ่มด้วยคำถามจากสถานการณ์โควิด 19 ก่อน ผู้ป่วยโรคระบบประสาท ได้รับผลกระทบจากการระบาด อย่างไรบ้าง
ส่วนตัวคิดว่าได้รับผลกระทบมาก อย่างช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด ผู้ป่วยโรคระบบประสาทบางส่วนจะบอกเราว่า เขาถูกปฏิเสธเพราะว่าต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งโรงพยาบาลไม่พร้อม อย่างช่วง lock down ผู้ป่วยทั่วไปจะอยู่ hospitel หรือโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยแพทย์จะดูแลคนไข้ผ่านการพูดคุยทางวิดีโอคอลเท่านั้น แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคระบบประสาท โดยเฉพาะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างในรายที่ติดเตียงจะมีพยาบาลเข้าไปเช็ดตัวป้อนข้าว ต้องใส่ชุด PPE เข้าไปดูแล ซึ่งทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่รับผู้ป่วยโรคระบบประสาทช่วงนั้นเลย
สำหรับสถาบันประสาทของเราเอง ก็จำเป็นต้องปิดวอร์ดศัลยกรรมลงประมาณครึ่งหนึ่ง เพื่อรับผู้ป่วยโรคระบบประสาทที่ติดโควิดจากที่อื่นเข้ามาดูแล สภาพ ณ ตอนนั้นบอกเลยว่ามาตรฐานการรักษาเสียไปหมดเลย มีทั้งผู้ป่วยไม่ได้รับยา ผู้ป่วยไม่ได้พบแพทย์ เราก็นำผู้ป่วยเหล่านั้นมาดูแล มีการทำ CT ทำ MRI ต่อมาก็มีการทำเป็น guideline ในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาทที่ติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงมีการจัดอบรมบุคลากรให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 และเป็นโรคระบบประสาท
แพทย์ได้เรียนรู้เรื่องอะไร จากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา
แพทย์แต่ละคนคงจะได้เรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่องที่แตกต่างกันไป เบื้องต้นเลยคิดว่า ส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ในการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาด ซึ่งตอนนั้นข้อมูลการระบาด แนวทางการปฏิบัติ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ การประสานงานระหว่างแพทย์และหน่วยงานอื่น ๆ มีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ มีการเปิดปิดพื้นที่ตรวจรักษานอกเหนือจากโรงพยาบาล มีการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับแพทย์หลาย ๆ คน
เรื่องต่อมา ส่วนตัวเป็นการเรียนรู้ในการฟังความต้องการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสถานการณ์การระบาดไม่ใช่ภาวะปกติ การบริหารจัดการแบบภาวะปกติทำไม่ได้ ในฐานะผู้บริหารองค์กรต้องมีการสอบถาม มีการจัดหาอุปกรณ์ให้เป็นไปตามความต้องการ เช่น ชุดและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ อุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยที่ช่วยบริจาคเครื่องมือให้เราเพิ่มเติมด้วย นอกจากนั้นยังต้องเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหน้างานต่าง ๆ เรียกว่าต้องอยู่ดูตลอด 24 ชม. ทั้งปัญหางาน ปัญหาคนทำงาน หรือแม้กระทั่งปัญหาของคนที่ติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามา ถึงแม้คิวจะแน่นมากหรือแพทย์ที่อยู่เวรไม่รับ เราก็ต้องพูดคุยกับแพทย์เพื่อหาทางออกร่วมกัน
อีกเรื่องที่เรียนรู้คือ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ ทั้งผู้ป่วยโควิด 19 และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น การใช้หุ่นยนต์เข้าไปดูแลผู้ป่วย มีการใช้วีดิโอคอลหรือไมโครโฟนผ่านกล้องวงจรปิดพูดคุยกับผู้ป่วย เป็นต้น
แพทย์สาขาประสาทวิทยาต้องปรับตัวอย่างไร ในการรองรับโรคอุบัติใหม่
ถ้าโรคอุบัติใหม่ทางด้านประสาทในปัจจุบัน เป็นโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติทางระบบประสาท โดยภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติได้เข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย โรคนี้เดิมคิดว่ารักษาไม่ได้ แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของระบบประสาท ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาให้คุณภาพของชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นได้ โดยสถาบันประสาท กรมการแพทย์ ได้ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติทางระบบประสาทขึ้น ก็จะพัฒนาต่อ
ประเด็นต่อเนื่องกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบประสาทจะทำให้โรคทางประสาทวิทยาที่วินิจฉัยหรือรักษาไม่ได้ในปัจจุบัน จะวินิจฉัยและรักษาได้ในอนาคตมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มใหม่นี้จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แพทย์ก็ต้องปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีในการวินิจฉัย การรักษา และผลข้างเคียงของการรักษาใหม่ ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ยารักษาบางตัวมีผลต่อภูมิคุ้มกัน โดยอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรง แพทย์ก็ต้องเตรียมการรับมือไว้
ส่วนอีกเรื่องคือ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มเกิดมากขึ้นจากสภาพอากาศและหลาย ๆ ปัจจัยที่เปลี่ยนไป เช่น เชื้อไวรัสโควิด 19 ก็ต้องดูว่าเชื้อโรคอุบัติใหม่ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทอย่างไร ทำอย่างไรจะให้ผลกระทบเกิดน้อยที่สุด เพราะเราคงต้องไปแก้ที่สาเหตุของการระบาดเป็นหลัก ในขณะที่การดูแลผู้ป่วย มาตรการและวิธีปฏิบัติต่าง เช่น การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ก็จะพัฒนาเพื่อรองรับโรคระบาดในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น
ย้อนกลับสู่คำถามประจำ แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์
เรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา วิชาที่ชอบที่สุดคือ เคมี ชีวะ แต่ตอนนั้นชอบทั้งบัญชีและแพทย์ แต่มาสรุปที่แพทย์ เพราะเห็นจากพี่ชายซึ่งเป็นแพทย์และตอนเด็ก ๆ ตัวเองเป็นคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงไปหาหมอบ่อย ก็คิดว่าถ้าเราเป็นหมอเองก็จะดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น ตอนนั้นเลือกแพทย์อันดับ 1 เลือก ทันตแพทย์ เภสัช บัญชี วิทยาศาสตร์ แต่ผลออกมาสอบติดแพทย์รามาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนเรียนก็เรียนไปเรื่อย ๆ ไม่โดดเด่นเท่าไร พอเรียนคลินิกเริ่มเห็นแล้วว่าเราอยากเรียนทางด้านอายุรกรรมแล้วอยากเรียนประสาทวิทยา เพราะมีอาจารย์ในสาขาที่แสดงให้เราเห็นว่า สาขาประสาทวิทยาเป็นอะไรที่ท้าทาย ใช้ความเป็นหมอจริง ๆ ต้องซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียด ต้องตรวจระบบประสาทแล้วนำผลมาวิเคราะห์ เพื่อจะหาว่าคนไข้คนนี้ ตำแหน่งที่ผิดปกติทางพยาธิสภาพอยู่ตรงไหน เกิดจากสาเหตุอะไร ตอนเรียนรู้สึกเป็นวิชาที่จะต้องใช้เทคนิคทางด้านความเป็นแพทย์จริง ๆ
พอเรียนจบที่ รามาฯ ทางสถาบันประสาทเขาก็เปิดรับ staff รุ่นใหม่ ๆ เราก็ไปอยู่ ตอนไปคิดว่าเป็นสถาบันที่เกี่ยวกับโรคระบบประสาทโดยตรง เราจะได้ทำงานด้านนี้อย่างเต็มที่ แต่พอมาทำจริงตอนนั้นระบบยังล้าหลังนิดหน่อย ยังไม่ได้มีการเรียนการสอนที่ชัดเจนแต่มีการบริการที่ค่อนข้างมาก ก็ค่อย ๆ ปรับระบบในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ ตอนแรกไปอยู่ที่คลินิกลมชัก 1 – 2 ปี จากนั้นอยากทำเกี่ยวกับเรื่องของโรคหลอดเลือดสมอง มีการซื้อเครื่องมือที่เกี่ยวกับการตรวจหลอดเลือด ก็เลยไปฝึกเกี่ยวกับการตรวจหลอดเลือดที่แผนก vascular ultrasound ไปฝึกการแปลผล เพราะเราฝึกวิธีทำจากเครื่องไปก่อนแล้ว ที่ Wake Forest University สหรัฐอเมริกา พอกลับมาโปรเฟสเซอร์ที่ Wake Forest University ก็ให้ไปสอบ ASN Certified (American Society of Neuroimaging. Certification in neurosonology) เขาจะมีสอบ Certified ทุกปี สอบผ่านแล้วก็มาเปิดบริการ ที่สถาบันประสาทวิทยา
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เท้าความที่เคยสัมภาษณ์ไว้หลายปีก่อน เรื่องแรกเป็นความภูมิใจในส่วนของการทำงาน เริ่มจากการจัดทำแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (CPG ischemic stroke) โดยสถาบันประสาทร่วมมือกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ สมาคมประสาทวิทยาฯ สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย และโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ จัดทำขึ้นจนสำเร็จและใช้งานจริง ต่อมาเป็นการทำเรื่องของการจัดตั้งระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ได้มาตรฐาน มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง (stroke unit) ลดภาวะแทรกซ้อน ลดความพิการ และลดอัตราการเสียชีวิต มีการจัดอบรม stroke nurse ทั้งที่เป็น basic course กับ advance course และ stroke manager ต่อมาก็มีการทำเรื่องของโรงพยาบาลเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมอง มีระบบการส่งต่อ ทุกวันนี้โรงพยาบาลระดับ A หรือโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ มี Stroke unit และ stroke fast track ครบเกือบ 100% แล้ว ต่อมาก็ทำการรับรองคุณภาพศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเรียกว่า Standard Stroke Center Certification และทำ Stroke Service Plan ต่อมาก็เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาหลอดเลือดอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือด วิธี EVT ซึ่งตอนที่เบิกไม่ได้ ทางเราได้จัดทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติขึ้นมา และได้มีการร่วมทำวิจัยในโครงการของ HITAP โดยใช้ทุนวิจัยของสวรส. เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยล่าสุดสปสช.ได้พิจารณาเพิ่มการรักษาด้วยวิธีนี้ ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองแล้ว ทำให้สามารถใช้สายสวนหลอดเลือด วิธี EVT ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอีก
อีกเรื่องเป็นการพัฒนาเกี่ยวกับการดูแลคนไข้สมองเสื่อม (Dementia) ให้ผู้ป่วยและญาติอยู่ด้วยกันแบบ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการทำ Memory clinic เป็นคลินิกเฉพาะกับคนไข้สมองเสื่อม ให้การตรวจรักษาโรคและการให้ความรู้กับญาติในการดูแลคนไข้ จากนั้นก็มีการจัดตั้ง Day care หรือศูนย์ผู้สูงวัยสุขกายสุขใจ ซึ่งเป็นที่ช่วยดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีอาการไม่รุนแรงมากในตอนกลางวัน ทำเป็นโมเดลบ้านผู้สูงอายุ เน้นการรักษาแบบ cognitive intervention เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด ถ้าผู้ป่วยมีเรื่องคิวนัดตรวจกับแพทย์วันนั้น ก็จะทำเรื่องคิวนัดให้ เมื่อถึงเวลาก็ไปตรวจไม่ต้องมานั่งรอคิว
ในส่วนของการพัฒนาสถาบันประสาท เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจน จากเดิมที่มีคนบอกว่าโรงพยาบาลประสาทเหมือนกับโรงพยาบาลบ้านนอกในกรุงเทพฯ เอกซเรย์ไม่มี รักษานอกเวลาก็ไม่ได้ ปัจจุบันเราสามารถให้บริการได้ 24 ชม. เปิดอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาประสาทวิทยาได้อย่างมีมาตรฐาน โดยกลุ่มงานประสาทวิทยาของสถาบันฯ มีแพทย์จบจากต่างประเทศครบเกือบทุกสาขาของโรคระบบประสาททัดเทียมโรงเรียนแพทย์ และสามารถให้บริการได้ครบทุกรูปแบบ
โดยปัจจุบันได้มีการปรับให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น จนทำให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบในเรื่องของความทันสมัย มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้งานในหลายเรื่อง เช่น การเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน NIT Plus เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ป่วย ทั้งเรื่องการนัด การจัดคิว การชำระเงิน การเก็บประวัติการรักษา โดยสถาบันกำลังพัฒนาให้แอปพลิเคชัน NIT Plus สามารถเชื่อมข้อมูลกับแอปเป๋าตัง ที่มีระบบ health link และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลโดยตรงเข้ากับโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วยได้ นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องของ MSA หรือการส่งต่อคนไข้ผ่านระบบออนไลน์มาใช้ เพื่อช่วยให้แพทย์ประจำตัวผู้ป่วย สามารถตรวจผู้ป่วยผ่านวิดีโอในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงสามารถสั่งยาและส่งยาไปยังที่อยู่ของผู้ป่วยได้เลย โดยบางรายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงทางสถาบันอาจจะส่งทีมไปเจาะเลือดที่บ้านเสริมให้บ้าง ซึ่งเป็นความพยายามของโรงพยาบาลที่ต้องการดูแลคนไข้ในเชิงรุก
สำหรับสิ่งที่ภาคภูมิใจอีกเรื่องคือ การได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมระบบประสาทวิทยาสมัยที่ 2 จริง ๆ แล้วเราไม่คิดว่าตัวเองจะลงต่อ พอดีได้เจอสมาชิก ก็มีคนมาขอร้องให้ลงเลือกตั้งอีกครั้ง ก็เลยลงสมัครต่อ เพื่อเป็นทางเลือกในการกลับไปสานงานที่กำลังทำและงานที่ทางสมาคมควรทำในอนาคต หลัก ๆ ก็จะเป็นการทำงานวิชาการ เพราะแพทย์บางคนมีงานค่อนข้างหนักจึงไม่มีเวลาดูแลในเรื่องของวิชาการ หรือบางคนก็อาจจะมีปัญหางานอื่น ๆ ทำให้งานประชุมประจำปีจะถูกแบ่งเป็นส่วน ๆ โดยส่วนแรกจะเป็นงานวิชาการที่ไม่ได้ลงลึก เหมาะสำหรับการอัพเดทความรู้เพิ่มเติม รวมถึงเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปซึ่งดูแลคนไข้ต่างจังหวัดสามารถนำความรู้ไปดูแลคนไข้ได้ และส่วนของความรู้ที่ลงลึกในแต่ละเรื่องตามสถานการณ์
สุดท้ายก็ถือเป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยสังคม ในการร่วมประชาสัมพันธ์ให้มีการฉีดวัคซีนในช่วงที่เชื้อโควิด 19 ระบาด ทั้งการแถลงข่าว การเปิด Hot line การตอบคำถามแพทย์และคนไข้ทั่วประเทศ โดยเราก็ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการที่อยู่ในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ก็ช่วยรับหน้าที่ดูแลในเขตที่ตนเองสังกัด ส่วนตัวในฐานะนายกเราก็ให้เบอร์โทรกลับ และเปิดให้คนเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราสามารถคลายข้อสงสัยและแก้ไขความเข้าใจผิดในเรื่องของการฉีดวัคซีน ทำให้ลดอาการแพนิคของผู้ป่วยไปได้มาก จนตอนนี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติในการฉีดวัคซีนไปแล้ว
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก เป็นคนมีใจรักในงานที่ทำ พอเรารักที่จะทำงาน ก็เวลาเจอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เราก็ไม่ท้อ เราก็ค่อย ๆ แก้ไข คิดว่าปัญหาเป็นบันไดเพื่อที่เราก้าวสู่ขั้นต่อไปได้ พอมีปัญหาก็ตั้งหลักกันนิดหนึ่ง แล้วค่อย ๆ แก้ ก็ทำให้เราสามารถทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้
ปัจจัยที่สอง เป็นคนชอบทำอะไรนอกกรอบ เริ่มจากเราต้องค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ แล้วนำความคิดที่ได้มาเสนอทีมงาน เพื่อให้ทีมงานพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ต้องยอมรับว่าไม่สามารถทำได้เองทุกอย่าง ก็ต้องดูในเรื่องของความเหมาะสม หรือใครเหมาะกับงานไหนก็จะแบ่งงานให้ทีมงานรับไปทำต่อ โดยที่เราให้คำปรึกษา แต่ถ้าหากมีปัญหาเราก็จะเข้าไปช่วยแก้ไข โดยทุกอย่างทำไปแล้ว ก็จะมีการติดตามผลอยู่ตลอดเวลา
ปัจจัยที่สาม มีผู้บริหารที่ช่วยสนับสนุน บางทีเราไปขายแนวความคิด มีผู้บริหารที่เห็นด้วย และให้การสนับสนุนจนสามารถที่จะทำได้ เช่น งาน Service plan stroke ทำเป็นซีรี่ส์ก็ยาว เพราะทำมาเกือบ 10 ปี แล้ว ก็ยังต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ
ปัจจัยที่สี่ เรื่องของวิชาการ การบริหาร การบริการต่าง ๆ ถ้าเราทำตามหลักวิชาการที่ถูกต้องก็จะทำได้ดีเพราะไม่ได้คิดขึ้นมาเอง เมื่อไม่มีวิชาการสนับสนุนก็จะไปได้ไม่ไกล ต้องอาศัยเรื่องของวิชาการไปด้วย จะได้ไปได้ถูกต้อง
กว่าจะถึงวันที่สำเร็จ เจออุปสรรคแล้วแก้ไขอย่างไร
จริง ๆ แล้วถ้าตามหลักธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง และเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหามันเกิด ปัญหานั้นมันก็ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน แต่เพียงแค่เราต้องมีสติมีปัญญาในการแก้ปัญหาโดยพิจารณาจากสาเหตุของปัญหา แล้วแก้ปัญหาให้ถูกจุดปัญหามันก็จะจบไป ทุกอย่างปัญหามีหมดเพียงแต่ว่าต้องสติ ไม่ตื่นตัว และแก้ให้ถูกจุด
อย่างเช่น ช่วงวัคซีนโควิด 19 ก็มีปัญหา ทำให้ต้องประชุมกรรมการสมาคม ฯ ด่วนเลย ประชุมตอนเย็นและประชุมนอกเวลา โดยใช้ Zoom คุยกัน เราก็ได้ความร่วมมือจากอาจารย์ทุกท่านหาแนวทาง โดยใช้องค์ความรู้เพื่อประเมินว่า มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนได้กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อประชุมจนได้ผลลัพธ์ก็ร่างคำประกาศของสมาคมฯ แล้วแถลงข่าว โดยเราก็ไปทำวิจัยร่วมกับกรมควบคุมโรคซึ่งทางคณะกรรมการของเราก็มีส่วนในการเขียนข้อมูลวิจัยจากกลุ่มคนจีนจำนวนหลายล้านคน พบว่ามีไม่ถึง 100 เคสที่มีอาการที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่พบว่ามีอาการเพียงเล็กน้อย แต่อาการดังกล่าวก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากวัคซีนจริงหรือป่าว
ก่อนหน้านั้น อย่างการตั้ง stroke unit ตอนแรกก็ไม่ค่อยมีคนสนับสนุน เราก็ค่อย ๆ ขายไอเดีย เสร็จแล้วก็ลองทำเอง ทำจากสิ่งที่เรามีอยู่ ทำให้ดีที่สุด แล้วจะมีตัวชี้วัดผลว่าทำแล้ว ผลมันดีกว่าเดิม ถึงตอนนั้นก็เริ่มจะมีคนฟังไอเดียที่เราขายมากขึ้น ก็พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน หรือ Day care ก็ถูกประท้วง ในวันที่เปิดก็มีบางคนมาประท้วง ตอนแรกมีผู้ใหญ่บอกว่าไม่ให้เปิดให้งดไปก่อน เราบอกว่าไม่ได้ เปิดคือเปิด เราลงทุนทำไปตั้งเยอะแล้ว ก็เลยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส มีนักข่าวมา เราก็เชิญให้มาดูเลยว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดี เพื่อประโยชน์กับคนไข้จริง ๆ นักข่าวบางคนยังชื่นชม ไปออกทีวีให้เราหลายรอบ อย่างคนที่สงสัยเราก็เชิญขึ้นมาดู และตอบได้ทุกคำถามจนกระจ่างชัดว่าเป็นสิ่งที่ทำเพื่อคนไข้ ก็ดำเนินการมาได้ดีมาตลอด
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่องอยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ถ้าย้อนกลับไปได้จริง ๆ อยากปรับปรุงเรื่องของการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้าน อาจจะต้องเรียนหนักขึ้นอีกนิดหนึ่ง ปัจจุบันเรียน 3 ปี อยากให้เพิ่มเป็น 4 ปี เพราะว่าเรื่องระบบประสาทมีเนื้อหาเยอะขึ้น ทำให้การเรียนการสอนอัดแน่น เพราะว่าทุกโรคจะลงลึก เมื่อลงลึกก็ทำให้มีเวลาที่เขาจะดูคนไข้ทั่ว ๆ ไป อาจจะน้อยลง อยากให้มีเวลาเยอะขึ้น ต้องดูว่าสมาคมและราชวิทยาลัย เขาจะปรับปรุงบ้างหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เด็กที่จบมาความรู้ในการดูคนไข้ไม่ได้กว้างเท่าเดิม
“คนเราสามารถขึ้นมา
อยู่ในตำแหน่งนี้ได้
สักวันมันก็ต้องลง
เราต้องไม่ยึดติดของบางอย่าง
ที่เราเคยเป็นเจ้าของ
อนาคตเราอาจไม่ได้
ครอบครองสิ่งนั้น
เพราะทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง
มันคือความไม่เที่ยง”
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรก ศ. นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านเป็นปรมาจารย์แพทย์ทางด้านประสาทวิทยา ตอนเรียนทุกวันเสาร์จะมีชั่วโมงที่อาจารย์มาสอนแพทย์ประจำบ้านจะต้อง present case ต่าง ๆ ให้อาจารย์ฟังแต่ละเคส อาจารย์ก็ตอบได้ถูกทุกครั้ง อาจารย์เป็นคนที่อัจฉริยะมาก
ท่านที่สอง ศ. พญ. รวิพรรณ วิทูรพณิชย์ ตอนอยู่คลินิก ช่วงเป็นนักเรียนแพทย์กำลังจะขึ้นปี 3 อาจารย์ก็จะมาสอนเกี่ยวกับการตรวจร่างกาย รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เขาเก่งจังเลย เราอยากเป็นแบบนี้บ้าง ท่านเป็นแพทย์ที่มีบุคลิกดี ใจดี สอนให้เราเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบบประสาทได้เป็นอย่างมาก
ท่านที่สาม ศ. นพ. ปรีดา พัวประดิษฐ์ อาจารย์เป็นคนที่ genius เก่งที่สุดในโลก ในเรื่องของประสาทวิทยา ถามแล้วตอบได้ทุกโรคทุกเรื่อง เก่งแล้วท่านเป็นคนพูดน้อย แต่ว่าตอบแล้วยิงตรงเป้าทุกครั้ง
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ธรรมะของหลวงปู่ชา ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่สอนธรรมะโดยให้ยึดหลักทางสายกลาง เน้นการไม่มีตัวตน ไม่ยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ เพราะความที่ทุกสิ่งเป็น “อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา” เราก็นำธรรมะเหล่านี้มาเป็นหลักปฏิบัติ เช่น ทุก ๆ อย่างที่เราได้มา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบอะไร เมื่อทำเต็มที่แล้ว ผลออกมาดีก็ดี ผลออกมาไม่ดี เราก็แก้ไข และเมื่อต้องเสียไป ก็ต้องรับให้ได้ ถึงจุดที่ต้องลง เราก็ต้องลงเป็น หรืออย่างการเผชิญหน้ากับปัญหา บางครั้งเราจะโทษคนอื่นก่อนเลย จนลืมคิดไปว่า ปัญหาอาจมาจากตัวเรา หรือมาจากมุมมองของเราไม่เหมือนกับของคนอื่น ธรรมะสอนให้เรามีสติ มองจากหลาย ๆ มุม หาสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง และค่อย ๆ แก้ปัญหานั้นไป เราก็จะสามารถก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหานั้นไปได้ เป็นต้น
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
ส่วนตัวมองว่า การแพทย์เมืองไทยในอนาคตจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เราคงจะเป็น Medical Hub ที่มีคุณภาพได้ อีกเรื่องที่สำคัญคือ การแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine จะมีบทบาทมากขึ้น ผู้ป่วยมีแนวโน้มจะมาพบแพทย์ลดลง อย่างโรคง่าย ๆ อาจจะไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถบอกอาการกับเครื่องมือที่มีระบบ AI มีช่องทางการรับยาและระบบติดตามผลที่ดี หากอาการไม่ดีขึ้นค่อยมาโรงพยาบาล หรืออย่างผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังแล้วไม่หาย เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิต ก็จะมีเครื่องวัดความดันติดตัวหรือติดบ้าน มีการรายงานผลให้แพทย์ทราบ อย่างผู้ป่วยเบาหวาน ก็จะมีวิธีการเจาะเลือดจากที่บ้านหรือเครื่องมือติดตัวที่ทำให้รู้ค่าเลือดโดยไม่ต้องเจาะ มีการรายงานผลให้แพทย์ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยและจัดส่งยา โดยตัวผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์บ่อย ๆ เป็นต้น แต่ในส่วนของหัตถการนั้น คิดว่าแพทย์ทุกคนยังจำเป็นต้องทำอยู่ ถึงแม้จะมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม
นอกจากการตรวจรักษาแล้ว บริการอื่น ๆ ในรูปแบบออนไลน์ก็จะมีมากขึ้น เช่น การนัดหมอผ่านระบบออนไลน์ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยซึ่งหลาย ๆ โรงพยาบาลกำลังทำอยู่ ส่วนตัวมองว่าภายใน 2 ปีนี้ บริการนัดคิวออนไลน์ก็จะครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องรอในโรงพยาบาลของรัฐนาน ๆ อีกต่อไป
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไปรุ่นใหม่ ควรดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการจริง ๆ อาจจะมีหลายวิธีให้เลือก แพทย์ต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด โดยให้เขาได้สิทธิหรือได้เกียรติความเป็นมนุษย์มากที่สุด ไม่ยึดติดกับผลประโยชน์ส่วนตัว และในปัจจุบันแพทย์ยังต้องมีการสื่อสารที่ดี สามารถสื่อสารได้อย่างถูกจุดและถูกต้อง เพราะหากสื่อสารผิดพลาดอาจจะมีผลกระทบตามมา อาจถึงขั้นฟ้องร้อง ดังนั้นแพทย์ต้องรายงานผลผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง และให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษาตัวเอง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ในส่วนการเข้ามาของเทคโนโลยี เช่น AI นั้น อยากบอกว่า แพทย์รุ่นใหม่ต้องมีความสามารถในการใช้ AI เข้ามาเพิ่มศักยภาพและลดข้อผิดพลาดในการทำงานของแพทย์ลง โดยแพทย์ต้องเป็นคนควบคุม AI ไม่ใช่ให้ AI มาควบคุมแพทย์ โดยตัวแพทย์จะต้องเป็นผู้วินิจฉัยผู้ป่วย เพราะผลที่ AI ประมวลออกมาอาจมีข้อผิดพลาดได้
สำหรับแพทย์ในสาขาโรคหลอดเลือดสมองตอนนี้เป็นโรคที่ต้องดูแลเป็นทีม คุณทำคนเดียวไม่ได้ควรจะต้องมีการพัฒนา ดูแล และทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่น ต้องคิดว่าโรคหลอดเลือดสมองนี้ ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะตอนนี้คนไข้มาเร็วการรักษามีหลายวิธีต้องรวดเร็วฉับไว ตัดสินใจให้เร็ว ว่าจะใช้วิธีไหน อย่างไร ไม่ทำให้คนไข้เสียประโยชน์