“ลูกศิษย์ที่ละเลยหรือดูแลรักษาคนไข้ไม่ดี ผมจะดุมาก ตัวผมเมื่อ 30 ปีก่อนกับตัวผมตอนนี้ แทบจะเป็นคนละคน”
ศ. นพ. อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์
นายกสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย)
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขากุมารเวชศาสตร์
ผมเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เป็นโรงเรียนที่นักเรียนมีพื้นฐานจากครอบครัวหลากหลาย มีทุกฐานะ ทุกอาชีพ ส่วนหนึ่งเด็กที่จบมักจะไปเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า วิศวกร ซึ่งจริง ๆ ตอนสมัยมัธยมผมไม่ได้อยากเป็นหมอ ผมอยากเป็นสถาปนิกมากกว่า แต่คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเป็นหมอคือ คุณอา ซึ่งท่านเป็นหมอ ท่านกลับมาจากการศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาก็มาเป็นอาจารย์แพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีด้วย และท่านได้ดูแลคุณย่าตอนที่ท่านเจ็บป่วยจนถึงแก่กรรมที่ รพ. รามาฯ ทำให้ผมคิดว่า การเป็นหมอนี้ดีนะ ได้ดูแลพ่อแม่ญาติพี่น้อง และอีกท่านที่เป็นแรงบันดาลใจคือ คุณพ่อ ท่านสนับสนุนผมเต็มที่จะเรียนอะไรก็ได้ ท่านเองทำธุรกิจแต่ก็ได้แนะนำว่าการเป็นหมอได้ช่วยเหลือคน ถ้าเป็นได้ก็อยากให้เป็นหมอเหมือนคุณอา แต่ถ้าผมอยากเรียนวิศวะหรือสถาปัตย์ท่านก็สนับสนุนตามที่ต้องการ ในที่สุดผมจึงตัดสินใจเลือกที่จะเรียนหมอ ตอนต่อมัธยมปลายจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเด็กที่เรียนเตรียมอุดมฯ ส่วนมากอยากจะเข้าไปเรียนหมอ ตอนเรียนมัธยมปลาย ได้รู้จักเพื่อนใหม่มาจากหลายโรงเรียนจากหลายจังหวัด ในห้องเดียวกันสนิทสนมกันมาก เพื่อน ๆ คอยช่วยเหลือกันในการเรียนเพื่อจะได้เข้าเรียนแพทย์ต่อด้วยกัน เป็นบรรยากาศการเรียนที่ดี ไม่เครียดเลย
สมัยนั้นมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมสอบได้เรียนแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตอนเรียนแพทย์ก็เป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนดีอะไรมากมาย ตามเพื่อน ๆ ไปได้ ทำกิจกรรมบ้าง รุ่นผมเป็น Intern รุ่นสุดท้ายพอเรียนจบก็ไปเป็น Intern ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ได้มีโอกาสหมุนเวียนไปฝึกงานแผนกต่าง ๆ จากสูตินรีเวช ออร์โธปิดิกส์ ศัลยกรรม กุมารฯ และอายุรกรรม ตอนนั้นได้มีโอกาสช่วยและทำผ่าตัดหลายอย่าง ผู้ป่วยต่างจังหวัดเยอะมากได้เรียนรู้เยอะมาก และมีโอกาสได้สอน เพราะตอนนั้นมีกิจกรรมวิชาการต่าง ๆ มีโอกาสสอนนักเรียนพยาบาลด้วย ทำให้เริ่มรู้สึกว่าการสอนการถ่ายทอดความรู้ก็สนุก และรู้สึกชอบการสอน พร้อม ๆ กันกับที่ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าอยากจะทำอะไรต่อในอนาคต ซึ่งตอนนั้นต้องสารภาพว่าเมื่อเริ่มเป็นแพทย์ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ตอนนั้นคิดเพียงแต่ว่าคงเป็นหมอเฉพาะทางสักสาขา และคิดว่าในระยะยาวคงจะต้องเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัด ปีต่อมาก็ต้องใช้ทุนได้ย้ายมาเป็นแพทย์ใช้ทุนอีก 2 ปีที่รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีระบบการทำงานอีกแบบหนึ่ง ผมเริ่มงานที่กองศัลยกรรม และหมุนเวียนไปทำงานที่ รพ.โรงเรียนการบินกำแพงแสน อยู่กองกุมารฯ กับกองสูติฯ สลับกับหมุนเวียนมาเป็นแพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ช่วงเวลานั้นจึงได้สนใจที่จะเป็นกุมารแพทย์จากเดิมที่เคยอยากเป็นศัลยแพทย์ และในระหว่างการทำงานก็มีโอกาสได้ทำกิจกรรมวิชาการที่มีการสอนอีกเช่นกัน ตอนนั้นผมได้ความคิดว่าการได้สอนหนังสือได้เป็นครูหรืออาจารย์แพทย์นั้นน่าจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการรักษาคนไข้อย่างเดียว
“เป็นช่วงชีวิตที่เหนื่อยมาก ๆ
มันท้อ ถึงขั้นร้องไห้ให้กับ
ชีวิตตนเอง แต่เป้าหมายผม
ชัดเจนคือ อยากเป็นแพทย์
ระบบประสาทเด็ก
และอาจารย์แพทย์”
จากที่ได้มีโอกาสค้นหาตัวเองอยู่ 2 – 3 ปี ในช่วงที่เป็นแพทย์ Intern และแพทย์ใช้ทุนทำให้ผมตกผลึกความคิดของตนเองว่า ผมอยากเป็นกุมารแพทย์และอยากเรียนต่อเฉพาะทางระบบประสาท ซึ่งไปเหมือนกับคุณอา ศ.เกียรติคุณ นพ. พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ ซึ่งท่านเป็นกุมารแพทย์ระบบประสาทในเด็ก และจบการศึกษาเฉพาะทางจากสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นหมอก็ได้เป็นต้นแบบการเป็นกุมารแพทย์ระบบประสาทด้วย ผมจึงมาสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ช่วงฝึกอบรมต่อต้องบอกเลยว่าเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก แต่ก็มีความสนุกกับการเรียนต่อเฉพาะทาง ตอนนั้นจริง ๆ ก็ชอบอีก สองสาขาวิชาคือ ทารกแรกเกิด กับ Critical Care แต่ยิ่งได้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคระบบประสาทยิ่งทำให้มั่นใจที่จะอยากเรียนต่อสาขานี้ เหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ดีคือ เคยได้ดูแลผู้ป่วยเด็กที่ป่วยเป็นสมองอักเสบนอนโคม่า ที่ต้องได้รับการดูแลทั้งใน ICU และย้ายมาอยู่ในหอผู้ป่วยรวม ผ่านไป 2 – 3 เดือน เด็กคนนี้ตื่นลุกขึ้นมาคุยได้ความจำกลับมาเกือบ 100% สิ่งนี้ช่วยตอกย้ำให้ผมอยากเรียนประสาทวิทยามากขึ้น เมื่อเป็นแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 ผมก็ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านว่าควรไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะคุณอาแนะนำเลยว่าจะเป็นแพทย์ระบบประสาทเด็กต้องไปต่างประเทศไปเรียนไปอบรมให้เต็มที่ในต่างประเทศจะช่วยทำให้การทำงานในอนาคตกว้างกว่าที่จะอบรมเพียง 1 ปีในประเทศ จึงสอบ ECFMG เพื่อสมัครไปเรียนต่อที่อเมริกาหลังจากการจบการฝึกอบรมกุมารเวชศาสตร์ ตอนนั้นผมฝึกอบรมแบบอิสระไม่มีต้นสังกัดการไปเรียนต่อเป็นการทำงานไปพร้อมกับการฝึกอบรม ที่ดีคือถ้าทางนั้นรับจะได้เงินเดือนด้วย ด้วยโอกาสที่อำนวย State University of New York at Brooklyn รับให้เข้าฝึกอบรมต่อตามที่สมัคร แต่ต้องเว้นช่วงว่าง 1 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับระบบและวงรอบการฝึกอบรมของอเมริกา ตอนนั้นผมได้รับคำแนะนำจากท่าน ศ.เกียรติคุณ นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นหมอเด็กควรมีพื้นฐานด้านประสาทวิทยาและแนะนำให้ไปเรียนประสาทวิทยาที่ประเทศอังกฤษ ในช่วง 1 ปีนั้น ด้วยความกรุณาของท่านผมจึงได้ไปศึกษาประสาทวิทยาก่อนเข้าฝึกอบรมที่อเมริกา โดยได้ไปเรียนต่อที่ National Hospital for Neurology and Neurosurgery, University College London โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ก่อนไปฝึกอบรมกุมารประสาทวิทยาที่สหรัฐอเมริกา ที่ Department of Neurology, State University of New York at Brooklyn ตามระบบการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาจะเข้าฝึกอบรมเป็น fellow สาขานี้ต้องจบการฝึกอบรมกุมารเวชศาสตร์อย่างน้อย 2 ปี ผมจบกุมารเวชศาสตร์จากประเทศไทยเขาเลยให้ credit 1 ปี แต่ยังขาดอีก 1 ปี และภาษาอังกฤษตอนนั้นก็ยังไม่ดีแม้ว่าจะเคยไปศึกษาที่อังกฤษมาแล้วก็ตาม จึงต้องทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านกุมารฯ ใหม่อีก 1 ปี โดยต้องทำงานในระดับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 ช่วงปีแรกนั้นเป็นช่วงชีวิตที่เหนื่อยมาก ๆ ระบบที่อเมริกาต่างกันกับที่เมืองไทยหลายอย่าง แพทย์ประจำบ้านต้องทำงานอยู่เวรเดือนละ 8 – 10 วัน งานหนัก มีวันหนึ่งที่อยู่เวรรอรับผู้ป่วยตอนตี 2 เป็นวันที่รู้ท้อจิตตกถึงขนาดน้ำตาซึมและถามตัวเองว่ามาทำอะไรอยู่ แต่ก็เอาชนะความรู้สึกตัวเองได้ สิ่งที่ช่วยได้มากคือการที่มีเป้าหมายชัดเจนคือ ตนเองอยากเป็นหมอระบบประสาทเด็ก จะได้มีโอกาสกลับเป็นอาจารย์แพทย์ บอกตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ซึ่งหลังจากการปรับตัว ได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และสนุกกับการทำงานและสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว จนจบการฝึกอบรมสาขากุมารประสาทวิทยา แล้วได้ศึกษาต่อเฉพาะทางด้านโรคกล้ามเนื้อในเด็กและศึกษาดูงานเรื่องโรคลมชักก่อนกลับมาประเทศไทย ก่อนจะจบการฝึกอบรมผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์ผู้ใหญ่ชวนให้กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี วันที่ผมได้รับจดหมายจากอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้น เป็นวันที่ผมดีใจมาก ๆ ที่จะได้ทำสิ่งที่ผมอยากทำและตั้งใจไว้ก่อนหน้า
สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สิ่งที่ผมภูมิใจมาก ๆ และตั้งใจแน่วแน่หลังจากศึกษาต่อ คือ การพัฒนากุมารประสาทวิทยาในประเทศไทย ให้มีความมั่นคงและก้าวหน้ามากขึ้นจากเดิมที่คุณอาผม ศ.เกียรติคุณ นพ. พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ ได้วางรากฐานไว้ ช่วงที่กลับมามีอาจารย์อาวุโสหลายท่านเป็นกำลังสำคัญ แต่ยังขาดทรัพยากรบุคคลและระบบต่าง ๆ เมื่อได้กลับมาประเทศไทยในปี 2539 และต่อ ๆ มาได้ร่วมกับอาจารย์รุ่นน้อง ๆ จากหลาย ๆ สถาบันอีกหลายท่านทั้งที่จบจากต่างประเทศและที่จบในประเทศ แต่ได้ศึกษาดูงานในต่างประเทศช่วยกันพัฒนาการเรียนการสอน ฝึกอบรมประสาทวิทยาเด็กให้เป็นระบบที่ชัดเจนและมีมาตรฐานขึ้นจากเดิมที่ฝึกอบรมได้ปีละ 1 – 2 คน เพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบันมีกุมารแพทย์ประสาทวิทยาสำเร็จการอบรมปีละกว่า 10 คน กระจายตัวกันทั่วประเทศ มีกิจกรรมพัฒนาวิชาการต่าง ๆ สม่ำเสมอ ซึ่งปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการพัฒนากุมารประสาทวิทยาในประเทศไทย คือความร่วมมือของกุมารแพทย์ประสาทวิทยาทุก ๆ สถาบันที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้มีความเป็นปึกแผ่น มีความก้าวหน้าทางวิชาการและการวิจัยที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ ได้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ที่ได้ประจักษ์ชัดเจนล่าสุดคือการที่ประเทศไทยโดยสมาคมกุมารประสาทวิทยาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงาน Asian Oceanian Congress of Child Neurology ครั้งที่ 16 (16th AOCCN 2023) ที่กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการจัดประชุมแบบ onsite เท่านั้นเป็นการจัดครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ๆ มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คนจากกว่า 20 ประเทศ และในขณะนี้มีกุมารแพทย์ประสาทวิทยากว่า 140 คน จากเดิมที่มีเพียง 17 คนในปีพ.ศ. 2539
ความภูมิใจเรื่องที่สองคือการที่ผมได้กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งคณะแพทยศาสตร์นี้เป็นสถาบันที่ทำให้ผมเป็นแพทย์ตามที่ตั้งใจ และยิ่งได้กลับมาทำงานในภาควิชากุมารฯ ที่มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ให้ความรู้สึกเสมือนกับทำงานกับสมาชิกครอบครัว เนื่องจากภาควิชานี้ มีรากฐานที่อาจารย์อาวุโสวางไว้ได้อย่างดียิ่ง ทำให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่มีความสุขกับการทำงาน เป็นหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกคนมีความเอื้ออาทรกัน และร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเองเพื่อผู้ป่วยเด็กและส่วนรวม ทุกวันที่มาทำงานผมมีความสุข ในปี 2560 ผมโชคดีได้มีโอกาสทำหน้าที่หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์จนเกษียณอายุการทำงานยิ่งทำให้ผมได้มีโอกาสได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับทุกคนในภาควิชาฯ และให้กับคณะแพทยศาสตร์ ตัวอย่างที่ผมถือว่าเป็นโอกาสที่ดีคือในช่วงสถานการณ์โควิดที่เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้องปรับการทำงานทุก ๆ พันธกิจเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย และทำให้มีความสนุกกับการทำงานมากแม้ว่าจะมีความเครียดแอบแฝงอยู่ตลอดจากความไม่แน่นอน ผมมักบอกลูกศิษย์ว่า ช่วงโควิดเป็นช่วงเวลาที่ให้เราทุกคนตระหนักถึงคุณค่าการที่เราทุกคนได้เป็นแพทย์มากที่สุด ได้มีโอกาสทำหน้าที่ที่อาชีพอื่นไม่ได้มีโอกาสนี้ เป็นช่วงที่เกิดความร่วมมือร่วมใจกันของแพทย์และการเปลี่ยน mindset หลาย ๆ อย่าง ทำให้เห็นว่าอาชีพแพทย์มีคุณค่ามากกว่าเงินทอง นักเรียนแพทย์ที่จบในช่วงนั้นเป็นรุ่นที่ผมได้สังเกตเห็นแนวความคิดที่ดี ๆ หลายอย่างเชื่อว่าเพราะพวกเขาได้ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นแพทย์ การได้ช่วยเหลือคน นอกจากนี้ในการทำงานในขณะนั้นเกิดการเปลี่ยนกระบวนการคิดไปหมด อะไรที่เคยคิดกันก่อนหน้าว่าทำไม่ได้ ก็ทำได้หมด อย่างเช่น การสอนหรือการให้บริการแบบทางไกล การได้มีโอกาสมาทำหน้าที่นี้ผมรู้สึกโชคดีและถือเป็นเกียรติมาก ๆ ที่ได้ตอบแทนสถาบันที่ประสิทธิประศาสตร์วิชาแพทย์ให้กับผม
“เราต้องรู้ว่าเรา
ต้องการอะไรในชีวิตหาสิ่งนั้นให้เจอ
และมุ่งมั่นกับสิ่งนั้น
อย่างเต็มที่”
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ความสำเร็จนั้นเป็นมุมมองของแต่ละบุคคล ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าความสำเร็จคือฐานะการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือตำแหน่งวิชาการ ในมุมมองของตนเองคิดว่าความสำเร็จของชีวิตคือการที่ได้ทำอะไรที่เราคิดจะทำ ได้มีชีวิตที่มีความสุข และได้มีโอกาสทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ การได้ทำหน้าที่ของแต่ละคนตามศักยภาพของตัวเอง หลาย ๆ คน อาจคิดว่าการเป็นอาจารย์แพทย์ได้ต้องเป็นคนเก่ง ซึ่งก็คงต้องมาให้คำจำกัดความกันอีกว่าเก่งคืออะไร ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นอาจารย์แพทย์ได้จะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ต้องมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเรียนดีได้คะแนนสูง ๆ ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้ตนเองได้มีชีวิตเช่นทุกวันนี้มี ไม่มาก
ปัจจัยแรก ผมเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและเชื่อว่าถ้าตั้งใจจริงก็จะเอาชนะอุปสรรคได้ ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต หาสิ่งนั้นให้เจอ และมุ่งมั่นกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ แต่อย่าหลอกตัวเอง ผมเองกว่าจะรู้ตัวเองว่าชอบอะไร อยากทำอะไร ผมใช้เวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่มัธยมปลาย และเมื่อหาเป้าหมายชีวิตเจอแล้ว ก็ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ถึงแม้จะมีอุปสรรคเข้ามา แต่ก็เชื่อว่าเราจะเอาชนะอุปสรรคนั้นได้
ปัจจัยที่สอง ผมทำงานกับคนเป็น การทำงานร่วมกับคนเป็นสิ่งสำคัญ การมีมนุษยสัมพันธ์ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นเรื่องสำคัญ ตอนผมจบแพทย์มาใหม่ ๆ ผมนิสัยไม่ดี คือ มักเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ค่อนข้างเอาแต่ใจตัวเอง หลายครั้ง ๆ ที่พูดจาไม่ดีกับคนรอบข้าง แต่พอได้ทำงานกับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้มีโอกาสเรียนรู้ ความเข้าใจคนเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มปรับปรุงตัวเอง เปลี่ยน mindset ในการทำงานกับคน บางครั้งเคยทำในสิ่งที่ไม่ดีกับบางคนก็รู้สึกไม่ดีทันที แทบจะกราบขอโทษเขาเลย ผมได้เรียนรู้ว่าเมื่อได้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ต้องไม่ทำแบบนั้นอีก ในการทำงานร่วมกับคน ต้องเห็นใจคนโดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา เมื่อทำงานกับคน ให้คิดเสมอว่าคนทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าเราคิดแบบนี้เราจะทำงานอย่างมีความสุข ผมทำงานหลาย ๆ อย่างร่วมกับหลาย ๆ คน ผมมีสิ่งเหล่านี้ให้กับทุกคน และคนรอบข้างที่ทำงานร่วมกับเราจะเชื่อใจเรา รักที่จะทำงานร่วมกับเรา เวลาคุยกับใคร ถ้าตามองตาเราจะรู้ว่าคนนั้นคิดยังไงกับเรา พูดแบบไม่จริงใจ มองกันออก อีกประการหนึ่งที่คิดอยู่เสมอคือเราไม่สามารถไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใครได้ ต้องแก้ไขที่ตัวเราเองก่อน
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
ในชีวิตคนเรามีปัญหาตลอด ในเรื่องการทำงานมักจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันซึ่งเป็นธรรมดา แต่ถ้าอธิบายให้เห็นถึงเป้าหมายที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายที่เพื่อตัวเราเอง เป็นเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเรา ยกตัวอย่างการจัดการประชุมนานาชาติ AOCCN ครั้งที่ 16 ที่ประเทศไทยได้รับสิทธิจัดการประชุมนานาชาติสำคัญของกุมารประสาทวิทยาตามกำหนดจัดในปี ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564 เราวางแผนนี้มานานกว่า 5 ปี แต่พอเกิดสถานการณ์โควิดทำให้การประชุมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักและหลาย ๆ องค์กรงดหรือยกเลิกการประชุมนานาชาติไปเลยด้วยความที่ไม่แน่นอนคาดเดายาก ผมก็ประชุมกับทีมงานต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไรดี เราจะจัดหรือยกเลิกไปเลย กรรมการหลาย ๆ คนก็มองว่า ถ้าจัดจะมีปัญหา มีอุปสรรคเยอะมากมาย มีโอกาสขาดทุนสูง แต่ผมคิดมาอย่างรอบคอบแล้ว ก็มองว่า การจัดประชุมนี้เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ การที่การประชุมนี้เป็นแบบ onsite เท่านั้น ถ้าเราจัดงานได้สำเร็จนอกจากจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมที่คาดว่าน่าจะเป็นกุมารแพทย์ประสาทวิทยารุ่นใหม่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด มีสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับแพทย์ต่างประเทศซึ่งจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลการต่อไป และยังเป็นโอกาสที่น้อง ๆ รุ่นใหม่ ๆ ได้มีประสบการณ์ทั้งการจัดงานและการได้เข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติ เมื่อพิจารณาศักยภาพของกรรมการสมาคมฯ เชื่อมั่นว่าเราทำได้ พอคุยกันได้ข้อสรุปเราจึง commit กับ Board ในกลางปี 2565 จะยืนยันขอจัดในปี 2566 ซึ่งได้รับการ approve โดยที่ประชุมกรรมการนานาชาติในการประชุม online ที่ประชุมอนุมัติให้เราจัดการประชุม AOCCN 2023 ตามที่เราเสนอเป็นแบบ onsite เท่านั้นในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งตอนนั้นเหลือเวลาเตรียมงานอีกไม่ถึงปี ทีมเราประชุมกันเองและประชุมกับกรรมการ Board นานาชาติทุกเดือน สุดท้ายเราจัดได้สำเร็จและได้ผลตอบรับที่ดีมาก จากที่ทราบผู้เข้าร่วมประชุมต่างชาติที่ได้รับทราบชื่นชมและเห็นว่าการจัดครั้งนี้ได้ทั้ง scientific และ social merits เราไม่ขาดทุนมีรายได้ที่จะนำมาสนับสนุนกิจกรรมวิชาการอีกแม้จะไม่มาก สิ่งที่ได้รับที่ไม่ใช่ตัวเงินนั้นคุ้มค่ากับการลงแรงรวมพลังครั้งนี้มาก ๆ
ผมเชื่อในความมุ่งมั่นและการทำเพื่อส่วนรวมจะเป็นปัจจัยที่ช่วยในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ทั้งในระดับภาควิชาฯ และระดับคณะฯ การทำงานร่วมกันเป็นทีม อาศัยความร่วมมือร่วมใจจากอาจารย์แพทย์ ลูกศิษย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ซึ่งร้อยคนก็ร้อยความคิด การให้เกียรติกัน มีความเข้าใจในสถานการณ์การทำงาน และความเชื่อใจกัน มีส่วนสำคัญที่ทำให้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคได้
ผมมักบอกลูกศิษย์ว่า ผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง ไม่ใช่เด็กเรียนเกียรตินิยม มีคนเรียนเก่งกว่าผมมากมาย แถมผมเป็นคนรักสบายอีกต่างหาก แต่ผมมีความชัดเจนในเป้าหมาย มีความมุ่งมั่นมากพอ ความสำเร็จในชีวิต อาจไม่ใช่ตำแหน่งวิชาการหรือเงินทอง เพราะทุกอย่างเป็นหัวโขน สิ่งสำคัญที่จะอยู่กับเราไปนานคือ “ครอบครัว” ถ้าทำให้ครอบครัวมีความสุข มีเงินใช้พอสมควร ได้ทำสิ่งที่รักและเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย เป็นสิ่งที่ดี
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ตอนผมกลับมาจากอเมริกาใหม่ ๆ ผมก็ยังมีความยึดติดในตัวเองอยู่ ค่อนข้างเชื่อมั่นในความคิดและการตัดสินใจของตัวเองมาก ในช่วงต้น ๆ ของการทำงานขณะนั้นมีความคาดหวังสูงและอยากให้บรรลุเป้าหมายเร็ว คิดว่าตนเองทำถูกต้องแล้วไม่สนใจคนอื่น ๆ ที่เห็นต่าง ผมเป็นคนพูดตรงและบางครั้งไม่ระมัดระวังคำพูด ทำให้บางครั้งการพูดจากับคนไข้หรือญาติคนไข้ หรือผู้ร่วมงานส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเขา
ถ้าย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งนั้นได้ ผมอยากกลับไปปรับมุมมองชีวิต แม้ว่าเราจะมีความหวังดี หรือมีเจตนาดี แต่การถ่ายทอดความคิด ด้วยการพูดที่เข้าใจความรู้สึกของคนไข้ญาติคนไข้ ลูกศิษย์หรือผู้ร่วมงาน ไม่พูดให้กระทบความรู้สึกก็น่าจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ผมเองเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดุมากคนหนึ่ง อาจเป็นเพราะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบประสาท ซึ่งถ้าผิดพลาดจะส่งผลระยะยาวกับผู้ป่วย ถ้าลูกศิษย์ละเลยบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย ผมจะพูดตรง ๆ และคำพูดอาจจะค่อนข้างดุ ซึ่งจริง ๆ มองย้อนหลังไปผมเมื่อ 30 ปีก่อนกับตัวผมตอนนี้แทบจะเป็นคนละคน การที่ได้ทำงานหลากหลาย เอาประสบการณ์และความผิดพลาดที่ทำมาช่วยในการพัฒนาตนเองมาก ทุกวันนี้ผมพยายามสอนกับลูกศิษย์ให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในงานแพทย์นี้ การเอาใจใส่ในการดูแลผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กับมองเห็นความเป็นคน มองถึงจิตใจของเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งถ้าสามารถทำเช่นนี้ได้จะมีความสุขกับการทำงานทุก ๆ วันแน่นอน
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกคือคุณพ่อ ท่านเป็นต้นแบบของผู้ชายที่รักครอบครัว มีความรับผิดชอบ ทำงานหนัก อยากให้ลูกทุกคนสบาย ผมมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน คุณพ่อทำงานหลายอย่างมากเป็นทั้งลูกจ้างบริษัทไปพร้อมกับการทำงานธุรกิจร่วมกับเพื่อน ๆ คุณพ่อเป็นตัวอย่างของผู้ที่เข้าสังคมเป็น มนุษยสัมพันธ์ดี และเข้ากับคนรอบข้างได้ดี ให้ความเคารพนับถือคนทุกคน จะยากดีมีจนคุณพ่อให้ความเคารพเท่าเทียมกันหมด คุณพ่อเป็นคนต่างจังหวัด เติบโตมาจากครอบครัวค้าขายฐานะธรรมดา เมื่อมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เคยต้องอาศัยญาติอยู่ เรียนและทำงานต่าง ๆ หลายหน้าที่หลายองค์กรจนเมื่อเกษียณอายุก็เป็นประธานบริษัทร่วมลงทุนกับต่างชาติ พ่อสอนให้ลูกทุกคนมีความรับผิดชอบ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ท่านเป็นตัวอย่างของความซื่อตรง ไม่เอาเปรียบคน ไม่คดโกง
ท่านที่สองคือคุณแม่ ท่านเป็นต้นแบบของแม่ที่รักลูก เสียสละทุกอย่าง คุณแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูก ๆ แต่ได้ร่วมอุทิศตนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์กับมูลนิธิต่าง ๆ จึงทำให้ผมได้มีโอกาสเห็นการทำงานของคุณแม่ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม บางครั้งก็ได้มีโอกาสช่วยงานคุณแม่ด้วย นอกจากจะแบ่งเวลาไปทำงานเพื่อคนอื่นแล้ว ที่ได้เห็นคือคุณแม่อาชีพเสริมที่ทำให้มีรายได้ ซึ่งเป็นการสอนให้ผมรับทราบถึงการรู้จักการใช้เงินไปพร้อมกับการรู้จักแบ่งปัน
ท่านที่สามคือ คุณอา ศ.เกียรติคุณ นพ. พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นแพทย์ เป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ดีมาก ท่านเป็นต้นแบบของการดูแลคนไข้ ยึดประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก ไม่เอาเปรียบคน จากการที่ผมเลือกเป็นแพทย์สาขาเดียวกับท่านด้วยจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านวิชาการและได้สานความตั้งใจของท่านในการพัฒนากุมารประสาทวิทยาต่อจากท่าน
“ผมน่าจะประสบอุบัติเหตุ
ที่อาจถึงชีวิตมาแล้ว 3 ครั้งแต่แคล้วคลาดมาได้
อาจเกิดจากการ
ที่ผมทำสิ่งดี ๆ มาก่อนหน้า”
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ผมคิดแบบนี้เลยคือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ผมคิดว่าบาปกรรมมีจริง คนเราถ้าทำสิ่งดี สิ่งดีจะกลับมาหาตัวเราเอง สิ่งที่ได้คือ ความสุขจะอยู่กับตัวเรา ในบางครั้งหลาย ๆ อย่างที่ได้ทำแล้วมีอุปสรรคเกิดขึ้น แล้วผ่านอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ เป็นเพราะเราได้ทำสิ่งดีเอาไว้ก่อนหน้า แล้วสิ่งดีนั้นก็จะกลับมาหาเราเช่นกัน ถ้าทำไม่ดี กรรมไม่ดีก็จะมาหาตัวเราเอง ไม่ช้าก็เร็ว ผมได้เห็นคนทำไม่ดีหลายอย่าง สุดท้ายก็กลับเข้าตัวเอง เกิดทุกข์ยากลำบากภายหลัง สำหรับผม มีเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงกับตนเองได้ถึง 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นน่าจะรุนแรงถึงกับเสียชีวิตของผมหรือคนที่เกี่ยวข้องได้ แต่ก็แคล้วคลาดมาได้ ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์มีเหตุให้แคล้วคลาด ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นจากการที่ผมทำสิ่งดีหลายอย่างมาก่อนหน้า ทุกวันนี้ผมมีความเชื่อเช่นนี้มาตลอด
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
แพทย์ต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ระบบการแพทย์ต่อไปจะไม่เหมือนเดิม การรักษาด้วยวิธีการเดิม ๆ ความคิดเดิม ๆ ไม่พอ รักษาผู้ป่วยจะเป็นแบบ Precision medicine คือการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะเฉพาะคน เฉพาะโรค โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรม จะไม่ใช่การรักษาแบบทั่วไปเป็นหวัดเจ็บคอก็กินยาปฏิชีวนะ จะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าทำไมคนนั้นถึงเป็นหวัดบ่อยและบ่อยแค่ไหน สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร อาจมีสาเหตุจำเพาะเฉพาะบุคคลแล้วไปแก้ไขตรงนั้น ขณะเดียวกันก็จะทำควบคู่ไปกับการป้องกัน การบริการทางการแพทย์จะไม่ใช่การไปโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เป็นการบริการแบบที่สามารถให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้ ที่เรารู้จักกันดีก็เป็นการรักษาแบบ Telemedicine คือบริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ยกเว้นเคสบางเคสที่ยากและซับซ้อนมากก็ค่อยมาโรงพยาบาล อาชีพแพทย์บางสาขาก็จะได้รับผลกระทบ แม้แต่สาขากุมารเวชศาสตร์ที่ดูแลเด็กและทารกก็ต้องปรับเปลี่ยน จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยและพ่อแม่มีความคาดหวังจากแพทย์ที่จะเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพและเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น ต้องการให้เด็กเรียนเก่ง ฉลาด นอกเหนือไปจากสุขภาพดี จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น การแพทย์กับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จะควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน ส่วนระบบการดูแลก็ต้องปรับตามความต้องการของประชาชน จะมีการนำระบบสารสนเทศมาใช้มากขึ้น
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
ส่วนตัวนั้นผมคิดว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสที่ดีขึ้น เขาคิดเองเป็น ได้รับข้อมูลมากกว่าสมัยก่อน และเขาเติบโตในสภาพแวดล้อมปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของเขา แพทย์รุ่นใหม่ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องตระหนักกับตัวเองว่าการที่ตนเองมาเรียนแพทย์นั้นเพราะอะไร ถ้าตอบว่ามาเรียนแพทย์เพราะรักสบายอยากร่ำรวย บอกได้เลยว่าไม่ใช่อาชีพนี้แน่ เพราะอาชีพนี้ไม่ได้สบาย บางสาขาก็พอมีโอกาสที่จะทำให้มีเงินทองเข้ามามากกว่าบางสาขา แต่ถ้าต้องการความร่ำรวยก็ยังมีอีกหลายอาชีพที่สามารถหาเงินทองหรือรวยได้มากกว่า และอาจสบายกว่าอาชีพแพทย์ แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้คิดว่าอาชีพนี้มีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือคนได้พร้อม ๆ กับมีรายได้ที่อยู่ได้โดยไม่ลำบาก ปัจจุบันประเทศไทยโดยภาครัฐให้การสนับสนุนหรือช่วยออกค่าเรียนด้วย ถ้าเทียบกับการเรียนแพทย์ในต่างประเทศ เช่น นักเรียนแพทย์ในอเมริกาต้องกู้เงินมาเรียน มุมมองต่ออาชีพแพทย์ก็ต่างกัน คำจำกัดความของคำว่าความสำเร็จก็ต่างกัน แต่ถ้าเข้ามาเรียนแพทย์ด้วยพื้นฐานความคิดที่อยากจะช่วยเหลือคนที่เจ็บป่วย เป้าหมายของชีวิตก็จะเป็นไปได้หลายแบบซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของแต่ละคนในบริบทที่ต่างกันได้ สิ่งสำคัญคือต้องหาตัวตนของตัวเองให้ได้ว่าตัวเราชอบอะไร ตกผลึกเป็นความคิดและเป้าหมายชีวิตให้เป็นของตนเอง แล้วมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้ไปถึงเป้าหมาย ก็ไม่มีสิ่งใดจะหยุดเราได้ มีอุปสรรคแค่ไหนเข้ามา เราก็จะผ่านมันไปได้
ผมบอกลูกศิษย์ว่า ผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง ไม่ใช่เด็กเรียนเกียรตินิยม มีคนเรียนเก่งกว่าผมมากมายแถมผมเป็นคนรักสบายอีกต่างหาก แต่เราต้องมีความมุมานะ ขยัน ความสำเร็จในชีวิต อาจไม่ใช่ตำแหน่งวิชาการ อาจไม่ใช่เงินทอง เพราะทุกอย่างเป็นหัวโขน สิ่งสำคัญที่จะอยู่กับเราไปนานคือครอบครัว ถ้าทำให้ครอบครัวมีความสุข มีเงินใช้พอสมควร ใช้ชีวิตพอเพียง ได้ทำสิ่งที่รักและต้องเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย