“ผมเป็นคนมีความฝันหรือมีเป้าหมายไกล ๆ ว่าผมอยากจะเป็นอะไร ผมอยากจะไปอยู่ตรงจุดไหน แล้วลงมือทำ…”
รศ. นพ. ณัฐวุฒิ วงษ์ประภารัตน์
หัวหน้าหน่วยหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
อุปนายกสมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคหัวใจ
ผมเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี ผมย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่จังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ พอดีคุณพ่อเป็นหัวหน้าสายตรวจสอบบัญชี ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะไปปฏิบัติหน้าที่ทำให้กระดูกสันหลังส่วนคอหัก ส่งผลให้ร่างกายทุพพลภาพเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงไหล่ลงมา ทำงานไม่ได้ ผมจึงได้ทุนเรียนของธนาคาร ชีวิตช่วงเด็ก ๆ ก็ลำบากพอสมควร คิดว่าการศึกษาสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวได้ สมัยนั้นผมเรียนอย่างเดียวเลย ที่บ้านคุณแม่ทำงานคนเดียว ผมก็ดูแลคุณพ่อไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันหมด ความคิดตอนนั้นก็อยากรักษาคุณพ่อ ทำให้แรงบันดาลใจในการเป็นแพทย์ของผมคือ การได้ช่วยดูแลรักษาคุณพ่อและญาติ ซึ่งต่อมาก็จะรวมถึงผู้ป่วยทุกคน แต่สมัยก่อนเด็กต่างจังหวัดจะเข้ามาเรียนหมอในกรุงเทพฯ มีความยากมาก ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องพยายามและตั้งใจ พอดีช่วงมัธยม 5 มีค่ายอยากเป็นหมอ ที่จุฬาฯ ผมเลยสอบเทียบและสามารถเข้ามาเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้
ตอนเรียนแพทย์ ช่วงปีแรก ๆ ผมทำกิจกรรมและเล่นกีฬาหลายอย่าง ต่อมาได้รู้จักกับรุ่นพี่ที่เป็นนายกสโมสรนิสิตคณะแพทย์ จุฬาฯ ก็เข้าไปช่วยเขา ได้เป็นประธานฝ่ายกีฬาและกรรมการบริหารให้กับสโมสรนิสิต โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปลูกฝังคุณธรรมและความรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อการเป็นแพทย์ที่ดี หลังจากนั้นรุ่นพี่เขาได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา ผมก็เห็นช่องทางในการไปเรียนต่อเมืองนอก ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ขึ้นคลินิก ก็ลดกิจกรรมลงแล้วหันมาอ่านหนังสือและเข้าเรียนแบบตั้งใจมากขึ้น โดยหลังจากเข้าเวร ผมจะยอมอดนอนเพื่อมาอ่านหนังสือต่อ จนสุดท้ายก็สอบ USMLE ผ่านตอนปี 6
ต่อมาผมก็เลือกไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่จังหวัดเพชรบุรี จะได้ดูแลคุณพ่อด้วยและจะได้รู้จักกับคุณหมอที่เพชรบุรีเผื่อมีอะไรก็จะได้ฝากดูแลคุณพ่อได้ โดยผมไปอยู่โรงพยาบาลจังหวัด 6 เดือน อยู่โรงพยาบาลอำเภออีก 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็เตรียมตัวเพื่อไปเรียนต่อที่อเมริกา จริง ๆ แล้วผมชอบทำหัตถการ และอยากไปเรียนเป็นหมอศัลยกรรม แต่เพราะเราเป็นแพทย์ต่างชาติ การเข้าฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน (residency training) มีทางเลือกแค่กุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์ สุดท้ายจึงตัดสินใจเรียนอายุรศาสตร์
การไปอเมริกาครั้งนั้นเป็นการไปต่างประเทศครั้งแรก ผมไปเรียนที่ Albert Einstein Medical Center มลรัฐเพนซิลเวเนีย ถือว่าเป็นการสู้ชีวิตระดับหนึ่ง เพราะภาษาอังกฤษยังไม่เก่งมาก ต้องไปเรียนกับแพทย์ประจำบ้านที่จบในอเมริกาที่กว่าเขาจะเข้ามาเรียนเขาก็อายุจะ 30 กันแล้ว ขณะที่ตอนนั้นผมอายุ 20 ต้น ๆ ผมพยายามอย่างเต็มที่ อ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนและฝึกหนักมาก พอเรียนจบผมได้รางวัลแพทย์ประจำบ้านดีเด่น ผมสนใจจะเรียนต่อ Cardiology ซึ่งเป็นสาขาที่มีการทำหัตถการหลายอย่างมาก ใกล้เคียงกับที่ผมจะเลือกเรียนศัลยกรรมในตอนแรก แต่ที่อเมริกาสาขานี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ผมวางแผนทำงานวิจัย ตั้งแต่เป็นแพทย์ประจำบ้าน ปี 1 ทำให้ผมมีผลงานวิจัยมากและพยายามเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสาขา และสามารถเข้าไปเรียน Cardiology ได้สำเร็จ
หลังจากนั้นผมไปเรียนต่อด้านหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนปลาย ที่ ร.พ. University of Louisville มลรัฐเคนทักกี แนวทางการรักษาเรื่องหลอดเลือดหัวใจ เปลี่ยนลิ้นหัวใจที่จากต้องเป็นการผ่าตัดได้เปลี่ยนผ่านมาเป็นการผ่าตัดผ่านสายสวนและทำโดยอายุรแพทย์หัวใจ จึงถือว่าผมโชคดีได้เข้าไปในช่วงจังหวะที่ดี หลังจากจบแล้วผมก็ไปเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่เมือง Nashville มลรัฐเทนเนสซี หลังจากอยู่ต่างประเทศ 10 ปี ผมก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช เพราะคิดว่าจะได้นำความรู้ความสามารถมาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยและญาติที่ทั้งมีและทั้งที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ความสามารถที่ได้ไปศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกามาถ่ายทอดเพื่อยังประโยชน์ให้กับประเทศ
“ผมภูมิใจในการเป็นคนสู้ชีวิต
จากเด็กต่างจังหวัด
เข้ามาเรียนหมอ
และก็ไปต่างประเทศ
จนได้กลับมาเป็น
อาจารย์ที่ศิริราช”
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
เรื่องแรก ผมภูมิใจในการเป็นคนสู้ชีวิต จากเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหมอและก็ไปต่างประเทศ กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช ต้องผลักดันตัวเอง มีความพยายาม ความตั้งใจไปตรงจุดนั้น ผมภูมิใจตรงนี้มาก
เรื่องที่สอง การได้เป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในทีมปฏิบัติหน้าที่ถวายงานทางด้านการแพทย์ ณ สำนักแพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเข้าร่วมเป็นกรรมการถวายการตรวจและรักษาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารและได้รับเชิญเข้าร่วมคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูแลสุขภาพให้กับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผมได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการรักษาคนไข้ ได้ทำงานวิจัย ได้สอนนักเรียนแพทย์ ได้ช่วยบริหารงานให้เกิดประโยชน์และพัฒนาวงการอย่างต่อเนื่อง อย่างตอนนี้เป็นหัวหน้าหน่วยหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ศิริราช มีการเรียนรู้และพัฒนาการทำหัตการใหม่ ๆ เช่น การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อการรักษา โดยการใช้สายสวนจี้เส้นประสาทอัตโนมัติ หรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนเป็นที่แรกของประเทศไทย ก็ต้องขอบคุณน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยกัน ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการบัญชียาหลักทางด้านหัวใจและหลอดเลือด เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้คนไข้ได้เข้าถึงยาที่จำเป็นมากขึ้น
สำหรับงานวิจัยก็มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติกว่า 80 เรื่อง ร่วมเขียนตำราทางหัวใจและหลอดเลือดหลายเล่ม อีกทั้งการเป็นผู้ร่วมกำหนดแนวทางในเวชปฏิบัติมาตรฐานการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ทั้งหมดเป็นความภูมิใจจากการได้ทำงานที่ศิริราช
เรื่องที่สามคือ การมีครอบครัวที่ดี งานเป็นส่วนหนึ่ง แต่การมี work life balance ก็คือครอบครัว ภรรยาผมช่วยดูแลลูกได้ดีมาก ลูกก็มีความตั้งใจในการเรียน เป็นเด็กดี มีความรับผิดชอบ และก็สนใจในการเป็นหมอด้วย
“สิ่งที่เราควบคุมได้คือ
ตัวเรา
เราทำตัวเราให้ดีที่สุดแล้วก็ปล่อยวาง
ผลจะเป็นยังไง
ก็เป็นตามนั้น”
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรกคือ การมีความฝัน ผมเป็นคนมีความฝันหรือมีเป้าหมายไกล ๆ ว่าผมอยากจะเป็นอะไร ผมอยากจะไปอยู่ตรงจุดไหน และก็คิดต่อไปว่าผมต้องลงมือทำอะไรบ้างเพื่อให้เข้าไปอยู่ตรงจุดนั้น เหมือนอย่างคำกล่าวที่ว่า “Thinking without doing is a dream, Thinking with doing is a vision” ผมจะลงมือทำในเรื่องนั้น ๆ แต่ผมมีหลักคิดของท่านพุทธทาส ไว้เตือนตัวเองว่า “อยู่โดยไม่ต้องมีความรู้สึกว่า เราดี เด่น ดัง อะไรเลย เพียงแต่รู้สึกว่า เราเป็นผู้มีประโยชน์ที่สุดคนหนึ่ง นั่นแหละถูกต้องและเป็นสุขแท้”
ปัจจัยที่สองคือ การมีความตั้งใจและพยายามทำให้ดีที่สุด โดยเมื่อถึงตอนลงมือทำ ก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ แต่ว่าไม่คิดต่อ หมายถึงผลที่ได้เป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ บางอย่างดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ก็ต้องพยายาม โดยผมจะคอยกำกับ คือ แนวคิดในไตรลักษณ์ที่ทุกเรื่องมันมีการเปลี่ยนแปลง มีหลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้มากที่สุดคือ ตัวเรา เราทำตัวเราให้ดีที่สุดแล้วก็ปล่อยวาง ผลจะเป็นยังไงก็เป็นตามนั้น อย่างการรักษาหรือการดูแลคนไข้ เราต้องถามตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ว่าทำเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าเต็มที่แล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรเราก็ต้องยอมรับ ถ้าเราสามารถพัฒนาได้เราก็กลับไปแก้ไข ให้ความสำคัญและจัดลำดับของงาน
ปัจจัยที่สามคือ ความรัก รักในสิ่งที่ทำตรงนี้สำคัญ ถ้าเราไม่รักในอาชีพที่ทำก็จะทำได้ไม่ดี ถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำ เราจะทำได้ดี แม้งานจะหนักแต่เรามีความสุขกับการทำ บวกกับการที่เราทำเต็มที่ ผลลัพธ์จะเป็นยังไงก็เป็นตามนั้นเราต้องปล่อยวาง สิ่งที่เรากำหนดไม่ได้เราก็ไม่ไปยุ่งกับมัน ซึ่งแพทย์รุ่นใหม่ควรจะมี
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
ผมขอเน้นในชีวิตการเป็นแพทย์ มันไม่มีอะไรที่จะสำเร็จได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะการทำหัตถการมีโอกาสเสียชีวิตสูง เพราะโรคบางโรคมีความซับซ้อน ตัวคนไข้เองก็ด้วย ผมเองเป็นหมอที่ทำหัตถการก็ต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับ ถ้าประโยชน์มีมากกว่าเราก็ทำให้เต็มที่ ใช้ความรู้ความสามารถที่เราจะทำได้ ส่วนปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ และความเสี่ยงจากหัตถการและปัจจัยของคนไข้อาจทำให้ผลการรักษาที่ไม่ดี ตรงนี้เราก็ต้องมีการพูดคุยกับคนไข้หรือญาติไว้ก่อนหน้า สำหรับผลการรักษาที่ไม่ดีที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้หมอบางคนเครียด หมดกำลังใจ ไม่อยากทำ
ถามว่าผมแก้ปัญหานี้อย่างไร ส่วนตัวผมใช้การทำสติเพื่อให้มีสมาธิ การที่เรามีสติอยู่กับปัจจุบัน ใจเราจะนิ่ง ทำให้การทำหัตถการต่าง ๆ ดีขึ้น ขณะที่พอมีปัญหาก็จะไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยว การตัดสินใจจะแม่นยำตรงนี้สำคัญมาก เพราะเวลาเราอยู่ในห้องผ่าตัด เราก็เหมือนเป็นผู้นำในการผ่าตัด ถ้าเกิดเรากลัวตื่นเต้นหรือตกใจ มันก็อาจเกิดปัญหาและมีผลต่อคนไข้และทีมงาน แต่ถ้าเราใจนิ่ง มีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ปราศจากความคิดที่เป็นอคติ ปราศจากอารมณ์ในแง่ลบ ลูกทีมก็จะมั่นใจในตัวเรา เชื่อมั่นต่อการผ่าตัด ผลของการรักษาจะออกมาดี ผมคิดว่าหมอที่ทำหัตถการมีการเจริญสติ นั่งสมาธิอยู่กับปัจจุบันกันเยอะ ถ้าหมอทำตรงนี้ได้ก็รักษาคนไข้ได้และก็ได้ธรรมะไปด้วย เพราะโดยส่วนตัวผมคิดว่าการทำสมาธิช่วยได้มาก
“ผมสนใจศาสนา
หากฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้องผมอาจทำได้มากกว่า
การรักษากายอย่างเดียวแต่อาจรักษาใจได้ด้วย”
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
จริง ๆ ผมไม่มีเรื่องที่อยากจะแก้ไข ผมก็ตั้งใจลงมือทำตามความฝันของผมมาตลอด มีแต่ในอนาคตผมสนใจด้านศาสนา เลือกปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงตามหาบัว พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต คือผมเป็นหมอรักษาร่างกาย แต่ร่างกายกับจิตใจก็มีความสัมพันธ์กัน ร่างกายต่อให้ดีให้แข็งแรงอย่างไร เมื่อถึงจุดหนึ่งโดยอายุก็ต้องจากไป แต่ใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ผมคิดว่าถ้าผมสนใจศาสนา ฝึกปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง ผมอาจทำได้มากกว่าการรักษากายอย่างเดียว แต่อาจรักษาใจได้ด้วย ความทุกข์ทางกายก็จะทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ ถ้าทำให้คนไข้ปล่อยวางไม่เป็นทุกข์ได้ จะช่วยลดความทุกข์ทางใจให้คนไข้และญาติได้ ส่วนตัวผมเองได้ฝึกปฏิบัติธรรมก็มีความสุขความสงบทางใจ ที่เล่ามาเป็นสิ่งที่ผมอยากศึกษาเพิ่ม สุดท้ายผมคิดว่าทรัพย์มี 2 แบบ ทรัพย์ทางกายและทรัพย์ทางใจ ทรัพย์ทางกายเราหาเงินได้เท่าไหร่พอเราตายมันก็หายไปหมด แต่ทรัพย์ทางใจก็จะอยู่กับเราไปตลอดเป็นอริยทรัพย์
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ ท่านเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตในทุก ๆ เรื่อง ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ตอนเด็ก ๆ ได้อ่านหนังสือของอาจารย์ ท่านเป็นต้นแบบของเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯแล้วก็มาเป็นอาจารย์แพทย์ ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา ในการเป็นครูแพทย์ที่ดี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีนิน ท่านเป็นต้นแบบในด้านการบริหาร การมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร อาจารย์เป็นหัวหน้าหน่วย มีความคิดใหม่ ๆ ในการบริหารอยู่ตลอด คุณชนะ รุ่งแสง ท่านเป็นหัวหน้าของคุณพ่อ ตอนเด็ก ๆ ท่านจะชวนไปที่บ้าน ท่านจะถามถึงเรื่องต่าง ๆ มากมาย เรียนเป็นยังไงบ้าง ท่านจะช่วยสอนการคิด สอนการบริหารคนว่าต้องมีพระเดชและพระคุณ ผมก็รู้สึกโชคดีที่มีผู้ใหญ่เมตตา สองท่านสุดท้ายคือ คุณพ่อคุณแม่ภรรยา ศ.เกียรติคุณ นพ. มนตรี และ ศ.เกียรติคุณ พญ. ชนิกา ตู้จินดา ท่านเป็นต้นแบบในทุก ๆ ด้าน ท่านเป็นแพทย์ที่ดี มีครอบครัวที่ดี ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นครอบครัวให้กับผม
“เรานั่งสมาธิเรารู้ว่าเราปวด
เราก็ไม่ยุ่งกับความปวดความปวดอยู่ข้างนอก
ใจอยู่ข้างในไม่เกี่ยวกัน”
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
สมัยตอนผมเด็ก ๆ ผมยึดหลัก ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำอะไรก็ได้ทำให้ดีที่สุดและต้องปล่อยวาง พอโตขึ้นมาก็ยังคล้ายเดิมคือ ตั้งใจและลงมือทำให้เต็มที่ แต่เพิ่มหลักคิดด้านธรรมะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ มีอุเบกขา เวลาเรานั่งสมาธิเรารู้ว่าเราปวดที่ร่างกาย เราก็ไม่ยุ่งกับความปวด ความปวดอยู่ข้างนอก ใจอยู่ข้างในไม่เกี่ยวกัน เราก็ไปสู้กับเวทนาว่า ความปวดมันไม่ใช่เรา เราไปยึดกับมัน เหมือนเรากลัวเข็มฉีดยา ถ้าเรามีสมาธิ มีสติ สามารถควบคุมความคิดของเรา สามารถวางใจให้เป็นอุเบกขา เราก็จะไม่กลัวเข็ม ตรงกันข้ามถ้าใจเราไปจดจ่ออยู่กับเข็มฉีดยา แล้วปล่อยให้ความคิดอีกด้านเข้ามาปรุงแต่งเราก็จะกลัวเข็มมากขึ้นอีก ผมก็กำลังฝึกอยู่
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
สถานการณ์ปัจจุบันผมคิดว่า การแพทย์ของเราถือว่าพัฒนาไปได้เยอะ ไปได้ไกล แต่จะเห็นได้ว่าการรักษากับภาวะเศรษฐกิจและสังคมอาจจะไปได้ไม่เท่ากัน ในอนาคตจะมีคนไข้ที่อายุเยอะ ๆ เพิ่มขึ้น ปัญหาการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่ป่วยหรือกลับจากการรักษาจะมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผมเองเห็นว่าเกิดขึ้นแล้ว อย่างคนไข้ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจบีบตัวไม่ดี เมื่อก่อนทำอะไรไม่ได้ ปัจจุบันสามารถรักษาได้ แต่ปัญหาที่ผมเห็นก็คือ มีคนไข้หลายรายที่เรารักษาได้ดี แต่ว่าญาติไม่พร้อมดูแลเมื่อต้องกลับไปที่บ้าน โดยเฉพาะสังคมกรุงเทพ ฯ ที่คนส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่การงานและความรับผิดชอบค่อนข้างสูง เรามีคนไข้ที่วอร์ดอายุรกรรมที่รักษาโรคจนหายแล้ว ญาติไม่มารับหรือไม่สามารถเอาไปดูแลต่อได้ ตรงจุดนี้ก็เลยคิดว่าเป็นจุดที่มีความห่างระหว่างความก้าวหน้าทางการแพทย์กับสภาพทางสังคม มองเห็นถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว ความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุของคนรุ่นใหม่ที่มีภาระรับผิดชอบมาก แต่ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอที่จะมารับผู้สูงอายุกลับไปดูแล สังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต สรุปปัญหาที่ผมเห็นก็คือ ระบบการแพทย์ทำให้คนสูงอายุ คนป่วยไข้มีชีวิตที่ยีนยาวขึ้น แต่กลับเป็นภาระของคนในครอบครัวว่าจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ด้วยสภาพการใช้ชีวิตที่มันยากลำบากมากขึ้น ทำงานมากขึ้นอยู่บ้านน้อยลง และประเทศยังไม่มีสวัสดิการเรื่องนี้เพียงพอ
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
ผมคิดว่าแพทย์รุ่นใหม่จะต้องรักในสิ่งที่ทำ รักในการเป็นแพทย์ก่อน สำหรับผมถ้าให้เลือกเกิดใหม่อีกรอบ ถ้าไม่เป็นพระ ผมก็เป็นแพทย์เหมือนเดิม แพทย์เป็นอาชีพที่สัมมาอาชีโว เป็นอาชีพที่เราสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้และเราได้บุญ อย่างคนไข้ของผมคนหนึ่ง ผมรักษาบอลลูนให้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาก็ส่งผ้าปูที่นอนที่เขาเย็บทำเองส่งไปรษณีย์มาให้ทุกปี เหมือนการรักษาให้เขารอดชีวิตเป็นบุญคุณที่เขาระลึกถึงเสมอเลย แพทย์จึงเป็นอาชีพได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่องและได้ความสุขทางใจด้วย ถ้าแพทย์รุ่นใหม่อยากประสบความสำเร็จต้องรักในสิ่งที่ทำ เมื่อจบแพทย์แล้วเราจะไปทางไหนเราก็ต้องมีความฝัน ถ้าฝันแล้วลงมือทำก็จะเป็น Vision ให้เราทำไปให้ถึงจุดนั้น key success ระหว่างแพทย์รุ่นเก่ากับแพทย์รุ่นใหม่นั้นเปลี่ยนไปมาก ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ปัจจุบันและในอนาคตก็เปลี่ยนไปมากเหมือนกัน ผมจำได้ว่าสมัยก่อนตอนผมจบแพทย์ใหม่ ๆ คนไข้เห็นหมอจะรู้สึกว่าหมอมาช่วยเรา ให้ความเคารพกับหมอ การทำงานก็เลยง่าย แต่ปัจจุบันลักษณะดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นผู้ให้และผู้รับบริการ ตรงนี้แพทย์รุ่นใหม่ต้องระวัง เพราะว่าความคาดหวังของคนไข้มีสูง ต้องมีการสื่อสารกับคนไข้และญาติพี่น้องให้มากขึ้น ตรงนี้ผมก็เอามาสอนลูกศิษย์ด้วย หลาย ๆ เรื่องมันไม่ใช่ถูกผิด แต่เป็นการบริหารความเสี่ยงเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับร่วมกับคนไข้และญาติ จริง ๆ แล้วการทำหัตถการให้กับคนไข้เหมือนกันแต่ความเสี่ยงและประโยชน์ที่คนไข้แต่ละคนได้รับอาจแตกต่างกัน ต้องรู้เขารู้เรา รู้คนไข้ รู้ความสามารถของเรา แล้วก็เอาทั้งหมดมาประกอบกันในการตัดสินใจ