CIMjournal

อาจารย์ พญ. สุรีย์ สมประดีกุล สาขาโรคระบบการหายใจ


“งานทุกอย่าง ไม่อาจสำเร็จได้ ด้วยลำพังตัวคนเดียว”

รศ. พญ. สุรีย์ สมประดีกุล
สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขาธิการ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 77 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตการหายใจ

ได้รับศึกษาในระดับประถมและมัธยมต้นจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่เด็กมีความตั้งใจอยากเป็นคุณครู ขณะเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ช่วงนั้นสามารถสอบเทียบมัธยมปีที่ 6 ได้และได้ลองสอบเอนทรานซ์เลือกไปทุกสาขา เผอิญสอบได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงตัดสินใจเรียนแพทย์ ในระหว่างที่เรียนแพทย์รู้สึกสนใจหลายด้านมาก หลังจบแพทย์ได้มีโอกาสเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พบเพื่อนร่วมงานและท่านอาจารย์ที่ดีมาก ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนอายุรศาสตร์ไม่ได้ยากอย่างที่คิดประสบการณ์ที่ได้รับและการเรียนรู้จากการดูแลผู้ป่วย ทำให้เรามีความคิดที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น หลังจากใช้ทุน 1 ปี เนื่องจากคุณพ่อป่วยจึงตัดสินใจกลับมากรุงเทพฯ และมาร่วมทีมแพทย์ผู้ช่วยวิจัยของ ศ. นพ. สุรพล อิสรไกรศีล ที่สาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจารย์และรุ่นพี่ได้แนะนำให้ไปศึกษาต่อเฉพาะทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นอาการคุณพ่อทุเลาลงมาก จึงได้ไปศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ที่ Case Western Reserve University ณ เมือง Cleveland มลรัฐ Ohio ทำให้ได้มีโอกาสทำงานวิจัยกับ Professor ER. McFadden ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านโรคระบบการหายใจ โดยเฉพาะเรื่อง exercise induced asthma โดยท่านได้กรุณาเขียนจดหมายแนะนำตัวให้ จึงได้เรียนต่อยอดอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตที่ University of California, San Diego มลรัฐ California ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมากด้าน pulmonary vascular disease ได้ศึกษากับปรมาจารย์อีกท่านหนึ่ง คือ Professor K. Moser หลังจบการศึกษาได้รับโอกาสจาก ศ.เกียรติคุณ พญ. คุณนันทา มาระเนตร์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค และ ศ.เกียรติคุณ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ในขณะนั้น ทั้ง 2 ท่านรวมทั้งอาจารย์ทุกท่านในภาควิชาอายุรศาสตร์ได้ให้ความกรุณารับให้เข้ามาทำงานที่ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายการเป็นแพทย์ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นทางด้านไหน ทางด้านการบริการ การดูแลผู้ป่วย เน้นที่การคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นหลัก ให้การรักษาดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยร่วมด้วย ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา คือคิดถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักก่อน

ทางด้านการเรียนการสอน ในฐานะครู คือ การตั้งใจสอน พยายามถ่ายทอดทั้งความรู้และประสบการณ์ให้อย่างเต็มที่ เรียนรู้และพัฒนาตนเองและวิธีการสอนเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับนักศึกษา ให้เวลากับนักศึกษาอย่างเต็มที่ รวมทั้งการเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยและญาติ เพื่อช่วยสร้างแพทย์ที่ดี การที่เราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาบางคนเรียนต่อทางด้านอายุรศาสตร์หรืออายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ ถือเป็นเป้าหมายที่สุดอย่างหนึ่งของการเป็นครูแพทย์

ทางด้านงานวิจัย ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary vascular disease) และโรคหลอดลมบ้าง การทำงานวิจัยบางชิ้นเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับยาใหม่ ๆ ซึ่งยังไม่มีใช้ในประเทศหรือเป็นยาที่มีราคาสูงมาก ๆ ผู้ป่วยก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย มีผู้ป่วยบางคนที่ชีวิตกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีชีวิตอยู่ได้ยาวขึ้นอย่างปกติสุข ครอบครัวของเขาก็มีความสุขไปด้วย ทำให้ดีใจทุกครั้งที่เห็นผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมาก นอกจากนี้ ได้ต่อยอดผลงานพัฒนาการดูแลคนไข้โรคหลอดเลือดแดงปอด โดยจัดตั้งชมรมหลอดเลือดแดงปอดสูงในประเทศไทยร่วมกับอาจารย์จากสหสาขา จัดอบรมให้ความรู้แพทย์ต่าง ๆ เกี่ยวโรคด้านนี้ทุกปี โดยในปี 2561 นับเป็นปีที่ 8 แล้ว ปัจจุบันทางชมรมกำลังเตรียมจัดงานวิจัยมหภาค คือ pulmonary hypertension registry ซึ่งยังมีเรื่องให้พัฒนาอีกมาก

จุดสูงสุดของอาชีพแพทย์ที่ไม่คิดฝันมาก่อนคือ การได้เป็นหนึ่งในตัวแทนเพื่อนแพทย์ร่วมถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตส่วนงานบริหาร เป็นอีกมิติหนึ่งของการทำงานที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไป คือ เคยรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และในช่วงนี้อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร

สำหรับมุมมองของตัวเอง มองว่าน่าจะเป็นเรื่องของความเป็นคนที่มี “ความตั้งใจ” และมี “ความใส่ใจ” ในงานที่ทำ โดยคิดว่าถ้าโอกาสมาเราต้องตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เวลากับงาน มีความพากเพียร เพิ่มเติมในสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์ และพร้อมที่จะแก้ไขความบกพร่อง เนื่องจากไม่มีอะไรในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ สำหรับงานใหญ่ ๆ งานส่วนรวม ปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ คือ “การทำงานร่วมกับผู้อื่น” รู้สึกว่า งานทุกอย่างไม่อาจสำเร็จได้ด้วยลำพังตัวคนเดียว เราต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ๆ ด้วย ดูได้จากการเรียน การทำงาน ทุกอย่างที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบันของตัวเองมีหลายคนช่วยถึงจะประสบผลสำเร็จได้ การทำงานที่ดีก็ต้องมีการประสานงานที่ดี ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องรู้จักขอบคุณและเห็นคุณค่าของผู้ร่วมงาน งานก็จะลุล่วงไปด้วยดี


มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

งานทุกงานย่อมมีอุปสรรคอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากให้งานไม่สำเร็จ บางครั้งเกิดจากคน เวลา สภาวะแวดล้อม ฯลฯ คงต้องใช้เวลาทบทวน วิเคราะห์ว่าเกิดจากเหตุใดได้บ้าง ถ้าเป็นที่ตัวเรา เช่น ขาดการสื่อสารที่ชัดเจน หรือไม่ได้ให้เวลามากพอ หรือไม่ละเอียดรอบคอบเพียงพอ ก็ต้องพยายามแก้ไข สำหรับเป้าหมายที่ไม่สำเร็จส่วนใหญ่ที่พบบ่อย ๆ มักจะเป็นเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ได้ผลดีตามที่คาดหวังไว้ อย่างไรก็ดี ก็คิดไว้ว่า ปัญหาทุกปัญหาจะเป็นบทเรียนที่สอนให้เราได้ปรับปรุงพัฒนาขึ้นเสมอ แต่ถ้าเป็นปัญหาที่อยู่นอกการควบคุมของเรา อาจต้องหาคำปรึกษาเพิ่มเติม


ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร

ถือว่าเป็นคนที่โชคดีที่มีแต่คนให้คำปรึกษามาโดยตลอด ตอนเด็ก ๆ ก็จะปรึกษาครอบครัวเป็นหลัก ช่วงเรียนและช่วงทำงานก็จะมีเพิ่มนอกจากครอบครัวจะมีทั้งเพื่อน รุ่นน้อง รุ่นพี่ที่สนิทกันหลาย ๆ คน แต่ละคนมีประสบการณ์ความรู้ คำแนะนำหลากหลาย บางครั้งแค่การที่มีคนรับฟัง ให้กำลังใจกันบ้าง ก็ทำให้สบายใจแล้วก็ค่อยคิดแก้ไข ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ด้วยดี นอกจากนี้บางครั้งมีอาจารย์ผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านช่วยให้คำแนะนำ ชี้แนะจากประสบการณ์ของท่านก็ทำให้เราแก้ไขปัญหาไปได้ด้วยดี


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของความเพียรและความเสียสละ บางทีเจองานหนัก ๆ เหนื่อยมาก ๆ เราจะนึกถึงพระองค์ท่านทำให้เราอดทนทำงานต่อไปได้ ถัดมาก็จะมีคุณพ่อ คุณแม่ เป็นต้นแบบในเรื่องของการเป็นคนขยัน อดทน ไม่กลัวอุปสรรค ไม่ย่อท้อ ท่านปลูกฝังให้เราเป็นคนทำอะไรต้องทำให้เต็มที่ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง คิดถึงผู้อื่นก่อน ต่อมาต้องเป็นครูบาอาจารย์ทุกท่าน ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันทุกท่านมีบุคลิกและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเราในหลาย ๆ ด้าน ทั้งหมดหล่อหลอม ค้ำจุนสนับสนุนเราให้เป็นได้อย่างทุกวันนี้


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

“ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด” ไม่ว่าหน้าที่ไหน ๆ ก็ตาม ทำเต็มความสามารถของเราที่จะทำได้ ถ้าช่วยคนไข้ก็ให้ถึงที่สุดทุกครั้ง มีช่องทางไหนทำให้เต็มที่ ดูแลเหมือนญาติเราด้วยคนหนึ่ง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ในแต่ละวันเราเจอคนหลายรูปแบบ ถ้าวุ่นวายมากก็พยายามมองอีกด้านว่า ที่เขาทำอย่างนั้น เพราะเขามีทุกข์ มีปัญหา ถ้าช่วยแก้ไขให้เขาได้ก็ควรรีบทำ ส่วนหลักในการทำงานที่ยึดถือ คือ “งานทุกอย่างไม่อาจสำเร็จได้ด้วยลำพังตัวคนเดียว” เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับหลาย ๆ คน แต่ละคนล้วนไม่เหมือนกัน เราต้องได้รับความร่วมมือจากคนอื่น ๆ ต้องมีความสามัคคี งานใหญ่ ๆ ถึงจะสำเร็จได้ “กตัญญู รู้คุณ” นอกจากบุคคลต่าง ๆ ก็มี “ศิริราช” ที่ทำให้มีโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตที่ดี ต้องพยายามทำงานให้ศิริราชเท่าที่ทำได้ และสุดท้ายที่สมเด็จพระราชบิดาทรงให้คำสอนไว้ “ฉันไม่อยากให้เธอเป็นแพทย์อย่างเดียว ฉันอยากให้เธอเป็นคนด้วย”


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

สำหรับการแพทย์บ้านเราในปัจจุบัน ถ้ามองในแง่ของวิวัฒนาการความรู้ เทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมืออยู่ในเกณฑ์ดีกว่าสมัยก่อนมาก บางสาขาเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลเลยทีเดียว โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ หน้าที่ที่สำคัญด้านหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ สมาคมวิชาการ คือ การติดตามปรับปรุงข้อมูล การวิจัยวิชาการให้ทันสมัยอยู่เสมอ และส่งเสริมการกระจายความรู้ วิทยาการใหม่ ๆ เหล่านี้ รวมทั้งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพไปยังโรงพยาบาลและสถาบันอื่น ๆ


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่วไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตเราต้อง “ตั้งใจเรียน สื่อสารเป็น และมีจริยธรรมทางการแพทย์” โดยไม่ว่าเรียนในระดับใด ต้องตั้งใจ ใฝ่รู้ เพราะความรู้และประสบการณ์ตอนเรียนจัดเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำงานในอนาคต ต่อมาเป็นเรื่องการสื่อสาร การที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องในชีวิตมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การปฏิสัมพันธ์กับคนไข้อาจน้อยลง แพทย์จึงจำเป็นต้องฝึกพูด ฝึกเขียน ฝึกสื่อสารให้ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วน การบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ก็มีส่วนสำคัญมากเช่นกัน ถ้าเราสื่อสารได้ดี มีความรู้ดี ปรารถนาดี ยึดถือจริยธรรมเป็นหลักในการทำงาน ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อถือ ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและญาติ โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนน่าจะน้อยลงมาก สำหรับแพทย์เฉพาะทางในสาขาระบบหายใจก็ไม่ต่างกับแพทย์ทั่วไป เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ควรจะต้องติดตามข่าวสาร พัฒนาเพิ่มเติมความรู้ความสามารถของตนต่อเนื่องไปเรื่อย เพราะเราเรียนรู้กันได้ทุกวันทุกเรื่องไม่มีจำกัด

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก