CIMjournal

อาจารย์ พญ. ปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์ สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก


“อย่าไปเครียดกับชีวิตมาก บางทีต้องรอจังหวะและโอกาส”

ผศ. (พิเศษ) พญ. ปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์
หน่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชิน
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 83 ปี 2563

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ

เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยจังหวัดสงขลา ใจจริงชอบเรียนด้านภาษา อยากเรียนอักษรศาสตร์ แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนสายวิทยาศาสตร์ ตอนเอนทรานซ์เลือกคณะทันตแพทย์ เอนทรานซ์ติดแล้ว แต่คุณพ่ออยากให้เรียนแพทย์ จึงให้ไปสมัครโครงการแพทย์ชนบท สอบติดในอันดับแรกของโครงการแพทย์ชนบท จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้มาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปีแรกต้องไปเรียนที่วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม ยังไม่ได้เริ่มเรียน ได้ทุน AFS (American Field Service) ไปใช้ชีวิตนักเรียนมัธยมอยู่ที่ประเทศแคนาดา ได้ขอพักการเรียนไว้ก่อน 1 ปี ข้อดีจากการไปเป็นนักเรียนทุนที่ต่างประเทศ คือได้เรียนรู้การมีชีวิตอยู่ในต่างแดนกับครอบครัวต่างชาติที่เป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ทำให้มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นและได้ภาษา พอครบกำหนดกลับมาเรียนแพทย์ได้ดูแลคนไข้ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย พูดคุยกับผู้ป่วย มีคุณป้าคนหนึ่ง เขาเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่รักษาได้ผลดี แต่โชคร้ายเขามีเลือดออกจากแผลในกระเพาะจึงต้องผ่าตัด หลังผ่าตัดเกิดเหตุการณ์ทำให้คุณป้าไตวายและต้องล้างไต ทีมแพทย์ตัดสินใจว่าจะไม่ทำการล้างไตเพราะเหตุผลว่าโรคพื้นฐานของคุณป้าคือโรคมะเร็งค่อนข้างที่จะรับไม่ได้ในจุดนั้น ด้วยความที่เป็นนักศึกษาแพทย์ ก็จะไปคุยกับเขาทุกวัน เหมือนเป็นคนไข้ประจำตัว ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของคนไข้นอกเหนือจากการเจ็บป่วย จึงคิดอยู่เสมอว่าในการเป็นแพทย์เราจะต้องมองผู้ป่วยเป็นเหมือนคน ๆ หนึ่ง มากกว่าที่จะมองว่าเป็นการรักษาเฉพาะโรคที่เขาเจ็บป่วยอยู่

พอจบแพทย์มาทำงานใช้ทุนที่ โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ทำงานอยู่ 2 ปี เมื่อมีครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายมาเป็นแพทย์อยู่ที่ โรงพยาบาลธัญลักษณ์ จ.ปทุมธานี ซึ่งสามารถเดินทางมากรุงเทพฯ ได้ อยู่ 1 ปีจึงย้ายมาที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สังกัดกรมการแพทย์ และรับทุนของโรงพยาบาลมาเรียนต่อกุมารแพทย์ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ตอนนั้นใช้ชื่อโรงพยาบาลเด็ก

เหตุที่เลือกกุมารแพทย์เพราะคิดว่าเหมาะกับตัวเองมากที่สุด เมื่อเรียนจบได้ทำงานเป็นกุมารแพทย์ที่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ทำงานไป 3 – 4 ปี ขณะนั้นมีความสนใจจะเรียนต่อ ก็ดูว่าที่โรงพยาบาลยังไม่มีเฉพาะทางสาขาอะไร มีอยู่ช่วงหนึ่งสนใจด้านโรคหัวใจเลยขอมาฝึกงานด้านโรคหัวใจเด็กอยู่นาน 3 เดือนที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ รู้สึกลังเลว่าจะเรียนโรคหัวใจหรือโรคติดเชื้อดี เพราะในช่วงเวลานั้นก็มีเรื่องโรคติดเชื้อ HIV ในเด็กที่ยังเป็นปัญหามาก มีความรู้สึกว่าดูแลคนไข้ได้ไม่ดีพอ ควรจะทำได้มากกว่านั้น นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ไปเรียนต่อ เพราะอยากจะรักษาคนไข้ให้ดีกว่าเดิม ช่วงนั้นได้ไปประชุมวิชาการเกี่ยวกับโรคติดเชื้อหลายครั้ง มีความรู้สึกประทับใจอาจารย์ทางด้านโรคติดเชื้อ เช่น ศ. พญ. อุษา ทิสยากร คิดว่าอนุสาขาโรคติดเชื้อน่าจะตรงกับตัวเอง เพราะโรคติดเชื้อ ต้องวิจัย หาความรู้ใหม่ และชอบทางด้านวิชาการ จึงตัดสินใจไปเรียนเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ 2 ปี หลังจากนั้นได้มาทำงานที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ทำงานด้านคลินิก เพราะอยากมีประสบการณ์เพิ่มเติมในการดูแลคนไข้ที่เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ และขณะเดียวกันมีโอกาสได้ทำงานวิจัยด้วย ขณะนั้น รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นหัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ อาจารย์มีโครงการวิจัยหลายโครงการ เราเริ่มเข้ามาช่วยอาจารย์ ได้เรียนรู้ไปด้วย รู้สึกว่าตัวเองชอบและมีความสุขกับงานด้านนี้ จึงได้ทำงานที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ จนถึงปัจจุบัน


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายในด้านการทำงานเป็นแพทย์ ก็คงต้องการที่จะสร้างผลงานด้านวิชาการ สร้างความรู้ใหม่ มีผลงานวิจัย เป็นที่ยอมรับ ได้มีโอกาสสอนน้อง ๆ ถ่ายทอดความรู้ให้แพทย์รุ่นน้องต่อ ส่วนนี้ตัวเองน่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้วส่วนหนึ่ง

เป้าหมายด้านการบริการ การเป็นกุมารแพทย์มีความรู้ได้ดูแลคนไข้ ทำงานเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อได้ในระดับสูง และสอนนักศึกษาแพทย์ได้จนถึงจุดนี้ก็ค่อนข้างจะพอใจ เพราะตอนแรกไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านได้ แต่จากการเรียนรู้และเก็บประสบการณ์ที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ก็พอใจในเป้าหมายด้านน

เป้าหมายด้านการวิจัย ก็คงอยากจะมีส่วนร่วมในงานวิจัยทางคลินิกที่เป็นเรื่องใหม่ เรื่องที่เป็นปัญหาของโลก ล่าสุดได้มีโอกาสร่วมในงานวิจัยเพื่อพัฒนายาที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ยอมรับเป็นมาตรฐานในการรักษา คิดว่ามีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของการหาวิธีการรักษาคนไข้ที่เราเคยรักษาไม่ได้ ให้รักษาได้

เป้าหมายนอกเหนือจากความเป็นแพทย์ สิ่งหนึ่งที่คิดตั้งแต่เด็ก คือ อยากจะประสบความสำเร็จทั้งเรื่องการงานและเรื่องครอบครัว ในเรื่องครอบครัว ลูก ๆ เรียนจบทำงานแล้ว 2 คน กำลังเรียนอยู่ปี 4 อีก 1 คน ก็เป็นไปตามที่ได้หวังไว


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จเกิดจากอะไร

ความที่สำเร็จ เกิดจากการทำอะไรต้องมีการวางแผน ต้องคิดวิเคราะห์แนวทางไปสู่เป้าหมายให้ดี ถ้าสนใจทางด้านไหนต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกเรียนต่อและทำงานในสาขาที่ตรงกับเป้าหมายของเรา ต้องวางแผนให้กับตนเองในแต่ละช่วงชีวิต

และอีกอย่าง น่าจะจากการเตรียมความพร้อม เราควรจะเตรียมพร้อมไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสมมติว่าไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็ไม่เป็นไร ค่อย ๆ ทำ หาวิธีอื่น อย่าไปเครียดกับชีวิตมาก บางทีต้องรอจังหวะและโอกาส แต่ในระหว่างนี้ก็ต้องสร้างเสริมพื้นฐานของเราไปเรื่อย ๆ เราโชคดีกว่าคนอื่นมากที่มีสติปัญญาที่ดี ได้เรียนแพทย์ มีความสามารถหลายอย่าง ถ้าเกิดว่าไม่ได้ในจุดนั้นจริง ๆ เช่น ไม่ได้ทำตรงนี้ เราก็ไปทำตรงอื่น เตรียมความพร้อมและตั้งใจก็ประสบความสำเร็จเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น การที่ได้รับการทาบทามให้มาทำงานที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ส่วนหนึ่งเป็นจังหวะคือ อ.ทวี กำลังมองหากุมารแพทย์โรคติดเชื้อเข้ามาร่วมงาน ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเราอยู่ในสังกัดของกรมการแพทย์และกำลังจะจบเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ แต่ว่าเป็นจังหวะพอดีที่ อ.อุษา ติดภารกิจ จึงให้ตัวเองที่กำลังเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอยู่ที่จุฬาฯ เข้าประชุมแทน ได้มีโอกาสพบ อ.ทวี ในงานประชุม ทำให้ได้มีโอกาสมาทำงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเรามีความพร้อมและเป็นจังหวะของชีวิตด้วย


มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

หากมีเป้าหมายอะไรก็ตาม อาจจะไม่สำเร็จในเวลาหนึ่ง ก็ต้องไม่เครียดหรือท้อถอย เตรียมตัวเองให้พร้อมและอดทนรอคอยโอกาส ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือ ต้องการที่จะศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งผ่านมานานก็ยังไม่มีทุนหรือมีก็ไม่สามารถสมัครได้ ระหว่างนั้นก็ทำงานไปโดยเตรียมตัวเองให้มีความพร้อมด้านวิชาการและคอยมองหาโอกาส จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีผู้ร่วมงานวิจัยที่ทำงานด้วยกัน จากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (TUC) แนะนำให้สมัครทุน William H. Foege Fellowship ซึ่งเป็นทุนเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่ Rollins School of Public Health มหาวิทยาลัยเอมอรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้สมัครจากทั่วโลกเพียง 1 คนต่อปี จึงได้ลองสมัครไปตามคำแนะนำและโชคดีที่ได้รับคัดเลือกและมีโอกาสได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ ในสาขา Global Health ในปี พ.ศ. 2561

หรือในเรื่องงานวิจัยโดยเฉพาะงานวิจัยเรื่องใหม่ ๆ ก็จะมีอุปสรรคบ้าง เช่น ต้องแก้ไขในการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย หรือมีข้อติดขัดด้านทุนวิจัย หรืออุปสรรคอื่น ๆ ก็ตาม ก็จะพยายามไม่เครียดมองว่าเป็นความท้าทายค่อย ๆ แก้ปัญหาไปทีละส่วน การรอเวลามีอะไรให้เราทำอยู่ แม้จะไม่ตรงกับที่อยากทำในขณะนั้น แต่ยังอยู่ในเส้นทาง หรือหากสุดท้ายไม่ได้ตามเป้าหมายจริง ๆ ก็มองว่าสิ่งนั้นอาจจะไม่เหมาะกับเรา ในการดำเนินชีวิตเป็นแพทย์เราก็สามารถมีความสุขกับการทำงานและช่วยเหลือผู้อื่นอยู่แล้ว


ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร

เรื่องงานจะปรึกษากับ อ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ มีข้อดี คือ อาจารย์เป็นผู้มีประสบการณ์ สามารถให้คำแนะนำกับเราได้ จะได้นำคำแนะนำนี้ไปตัดสินใจ อีกคนที่จะปรึกษา คือ สามี มีข้อดี คือ ทำให้เราได้มุมมองของคนนอก ถ้ามุมมองของแพทย์ด้วยกัน คนในด้วยกัน อาจจะมองอีกอย่างหลัง ๆ ปรึกษากับลูกสาว ซึ่งจะได้มุมมองของวัยรุ่น มุมมองของคนรุ่นใหม่


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน

ท่านแรก คือ ศ. พญ. อุษา ทิสยากร อาจารย์เป็นนักวิชาการที่มีความสามารถ ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมาโดยตลอด เป็นครูแพทย์ที่มีวิธีในการสอนพวกเราดีมาก อาจารย์จะไม่สอนทุกอย่าง แต่จะพูดโดยให้เราคิดและชี้ประเด็นให้เราตัดสินใจด้วยตนเอง อาจารย์เป็นคนมีเมตตาต่อลูกศิษย์ ลูกน้องและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ

ท่านที่สอง คือ รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นต้นแบบในเรื่องวิธีการทำงานของอาจารย์ ทำให้เราเรียนรู้เรื่องของการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ตอนที่อาจารย์ทำวิจัยเรื่อง วัคซีนไข้เลือดออก อาจารย์ต้องคอยแก้ไขโครงร่างการวิจัยและตอบคถามของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้เห็นว่าอาจารย์ต้องมานั่งเรียบเรียงตอบคำถามในจุดต่าง ๆ อยู่เป็นเวลาเกือบปี เรารู้สึกว่างานทุกงานไม่มีงานไหนง่าย ปัญหาอุปสรรคมีได้อยู่ตลอด ซึ่งเวลามีปัญหาอาจารย์จะไม่โทษผู้อื่น แต่จะดูว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหนและแก้ให้ตรงจุดโดยไม่เอาความคิดความรู้สึกส่วนตัวไปตัดสินคนอื่น

คนที่สาม คือ คุณนฤเทพ สันตะรัตติวงศ์ (สามี) เป็นต้นแบบในเรื่องการดูแลเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ได้มุมมองด้านการบริหารการปกครองคน เพราะเขามีวิธีการพูดที่ดีในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ คิดว่าเป็นสิ่งที่เราควรจะเรียนรู้ แต่ก่อนไม่ค่อยยอมใคร ตอนหลังรู้สึกว่า ถ้าเราเสียผลประโยชน์บางส่วนของเราไปบ้าง แต่ทำให้ภาพรวมเดินต่อไปได้เสียนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร ก็ได้เห็นแง่มุมของการทำงานที่มององค์กรเป็นหลัก


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ทุกอย่างมีการดำเนินจังหวะของมันเอง อย่าไปเครียดกับชีวิตมาก คนเราทุกคนจะทำอะไรหรือดำเนินชีวิตอย่างไรก็ตามไม่มีทางที่จะราบรื่นสวยงามไปหมด ในความเป็นชีวิตของทุกคนล้วนมีปัญหาอุปสรรคทั้งนั้น สักระยะหนึ่งก็จะผ่านพ้นไปได้ ค่อย ๆ พิจารณาดูว่าทางแก้ปัญหานั้นคืออะไร

ทุกคนมีข้อดีข้อเสียของตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาทำงานกับกลุ่มคน ต้องมองข้ามข้อเสีย แล้วหาข้อดีของเขาบ้าง จะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร

ทิศทางการแพทย์ของเมืองไทย ปัจจุบันเราต้องปรับตัว ทุกอาชีพรวมทั้งแพทย์ด้วย ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีต้องเข้ามาอย่างเลี่ยงไม่ได้ จะมาทดแทนทักษะบางอย่างของเราเป็นแนวทางของโลกในปัจจุบันและอนาคต เช่น การอ่านภาพเอกซเรย์ในที่สุดน่าจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีโดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องปรับตัว ต้องยอมรับและเรียนรู้ ทำอย่างไรเราถึงจะใช้หรือทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

อย่างแรกคือ เน้นความใส่ใจ เวลาเรารักษาคนไข้ หรือทำงานอะไรก็ตาม ให้เน้นความใส่ใจในการทำงาน ใส่ใจกับคนไข้ ให้รู้สึกว่าเราอยากจะให้เขาหายจากโรค อย่างที่สองคือ เลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข เวลาจะทำงานด้านไหนก็ตาม อย่าคิดว่าหากทำงานนี้แล้วจะได้รับผลตอบแทนสูง เงินเดือนดี ซึ่งหากไม่ใช่สิ่งที่ชอบ อาจจะทำให้เราไม่มีความสุขในระยะยาวของชีวิต ควรเลือกสาขาที่ทำแล้วมีความสุข อย่าเลือกไปตามเทรน

สำหรับแพทย์ในสาขาโรคติดเชื้อ อย่างแรกให้คงความตั้งใจที่จะทำงานให้สำเร็จไว้ อย่าเพิ่งท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค และอยากจะให้ใช้ชีวิตโดยไม่เคร่งเครียด เมื่อได้รับมอบหมายงาน ก็ให้คิดว่าเป็นประสบการณ์ อย่าปิดกั้น ถือว่าเราได้รับโอกาส

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก