“เมื่อจบการศึกษาแล้ว ชีวิตจะอยู่ที่เรากำหนดเอง ให้เราเริ่มตั้งเป้าหมายในชีวิตและพยายามดำเนินไปตามที่ตั้งไว้”
ศ. ดร. นพ. พลภัทร โรจน์นครินทร์
นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
หัวหน้าศูนย์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (CMDL)
รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ฯ ฝ่ายการศึกษาระดับปริญญา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รักษาการหัวหน้าฝ่ายธนาคารเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 89 ปี 2564
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโลหิตวิทยา
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ รู้สึกชอบวิชาชีววิทยาและเคมี มากกว่าฟิสิกส์และเลข พอสอบเทียบได้จึงเลือกสอบเอนทรานซ์คณะแพทยศาสตร์ และติดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหตุการณ์ประทับใจเริ่มตอนเรียนชั้นคลินิก ตอนเจอคนไข้รู้สึกดี เวลาทeงานได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนไข้ บางคนแม้โรคเป็นหนักมากอาจหายขาดได้ก็มี หรือบางคนรักษาไม่หายแต่ว่าเราได้ช่วยเขา ทำให้อาการเขาดีขึ้นจิตใจดีขึ้น ยอมรับความเจ็บป่วยได้ดีขึ้น แม้บางครั้งคนไข้เสียชีวิต แต่ญาติเขารู้สึกขอบคุณเรา เป็นการเลือกอาชีพที่ถูกต้อง เพราะเรามีความสุขในการทำงาน
พอจบแพทย์ 6 ปี มาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และสอบเป็นแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ หลังใช้ทุน 4 ปี เหตุที่ชอบอายุรศาสตร์ เพราะต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ ใช้ความรู้ บางทีคนไข้มา มีความซับซ้อน ทำให้สงสัยว่าคนไข้เป็นโรคอะไรเหมือนกับการอ่านนิยายนักสืบ ต้องค่อย ๆ ค้นหาความรู้ ตรวจไปเรื่อย ๆ พอรักษาไป รู้สึกชอบและสนุก ส่วนตัวไม่ชอบที่จะทำหัตถการชอบใช้ความคิดในการวินิจฉัย การแยกโรค
ช่วงเป็นแพทย์ใช้ทุนมีวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด สมัยก่อนถ้าป่วยเป็นมะเร็งคือเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากโรคเองหรือจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดขนาดสูง แต่ต่อมามีการค้นพบว่ามียารักษาที่ไม่ต้องให้เคมีบำบัด หรือให้เสริมไปกับเคมีบำบัด และทำให้คนไข้หายขาดได้ ตอนนั้นเคยเจอคนไข้ที่เป็น Acute leukemia ชนิด M3 ใช้ยารับประทาน all trans retinoic acid ไม่ต้องใช้เคมีบำบัด ซึ่งจะเป็นการมุ่งเป้าไปที่ยีนของโรค ทำให้หายได้โดยผลข้างเคียงน้อย และด้วยความที่ชอบดูเซลล์เม็ดเลือด รู้สึกว่ามีความสวยงาม จึงทำให้อยากเรียนโลหิตวิทยา จึงมาเรียนสาขาวิชาโลหิตวิทยาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ปี โดยมี รศ. พญ. สุมาลี ศรีวัฒนา เป็นกุมารแพทย์ ท่านแนะนำให้รู้จัก ศ. นพ. ธานินทร์ อินทรกำธรชัย พอดี รศ. นพ. สืบสันต์ มหาสันทนะ ซึ่งเป็นอาจารย์โรคเลือดท่านลาออก จึงมีตำแหน่งว่าง และอาจารย์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคงูเขียวหางไหม้กัด ทำให้เกิดเลือดออกง่าย รู้สึกสนใจ จึงมาต่อทางด้านนี้
ตอนนั้นมีความคิดว่าการเรียนทางคลินิกเพียงพอแล้ว อยากกลับมาทำวิจัยระดับโมเลกุลในห้องทดลอง จึงไปเรียนเป็น Ph.D. ที่ University of Washington เมือง Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ 5 ปี ทำการทดลองเกี่ยวกับ Megakaryocyte หากลไกการสร้างเกล็ดเลือด เป็นเซลล์ขนาดใหญ่และผลิตเกล็ดเลือดออกมา ดูว่ามันผลิตได้อย่างไร เจ้านายที่นั่น Professor Kenneth Kaushansky เป็นคนค้นพบตัวฮอร์โมนซึ่งกระตุ้น Megakaryocyte คือ Thrombopoietin ทำให้สามารถที่จะเลี้ยงเซลล์ Megakaryocyte ที่สร้างเกล็ดเลือดได้ หลังจากนั้นก็กลับมาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจแรก คือ การทำงานรักษาคนไข้ พอรักษาและเขาอาการดีขึ้น เขาก็แนะนำคนไข้คนอื่นมารักษากับเรา ว่าถ้าเขาคิดถึงโรคเลือด เขาก็คิดถึงเรา หรือแพทย์ท่านอื่นที่มีคนไข้ของเขาเกี่ยวกับโรคเลือด เขามาปรึกษาเราทำให้มีความภาคภูมิใจว่า ในการดูแลผู้ป่วย เราทำได้ดีระดับหนึ่ง
สิ่งที่ภูมิใจที่สอง การสอน การเป็นอาจารย์ การสอนทางการแพทย์ วิชาความรู้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตนของเราด้วย คือต้องทำตนให้เป็นแบบอย่าง ต้องทุ่มเทให้กับงาน ไม่ได้สนใจเรื่องเงินมากนักมีลูกศิษย์ที่จบไปและได้รางวัลเป็นโลหิตแพทย์ดีเด่น เป็นครูแพทย์ดีเด่น รู้สึกภูมิใจว่า เขาได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม
สิ่งที่ภูมิใจที่สาม งานวิจัย ได้ผลิตงานวิจัยมากพอสมควร อย่างเรื่องงูกัด จะดูว่า การตรวจเลือดในคนไข้ที่ถูกงูกัด แต่ก่อนจะใช้การเจาะเลือดใส่หลอดแก้ว เป็น Venous clotting time ก็ไม่ค่อยสะดวก จึงเปลี่ยนมาใช้การตรวจแบบใหม่ โดยใช้ Prothrombin time ซึ่งมีมาตรฐานกว่าและได้แนะนำในแนวทางปฏิบัติในการรักษาภาวะนี้ แต่ก่อนคนไข้ที่ถูกงูกัดและบวม เราไม่รู้ว่าเซรุ่มจะช่วยได้หรือไม่ พอลองำดู เซรุ่มช่วยให้ลดบวมได้เร็วขึ้น การวิจัยเรื่องเกล็ดเลือดต่ำ ก็มีการใช้ยาDapsone ซึ่งราคาไม่แพง มารักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือใช้ยา Cyclosporine มารักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดใต้ผิวหนัง โดยไม่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด เป็นสิ่งที่ภูมิใจว่า สิ่งนี้มีประโยชน์กับคนไข้
สิ่งที่ภูมิใจที่สี่ ได้รับการยอมรับให้เป็นนายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย แสดงว่าเป็นที่นิยมพอสมควร ส่วนนโยบายที่จะดำเนินการคือ มีความคิดที่อยากจะผลักดันเรื่องการเข้าถึงยาทางโลหิตวิทยาใหม่ ๆ ที่ผลิตมาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาก ทางสมาคมมีความคิดว่า มียาตัวไหนที่จะมีประโยชน์คุ้มค่า จะพยายามนำเสนอเข้าไปทางกรรมการบัญชียาหลัก เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก คือ ชอบในสิ่งที่ทำ จึงต้องเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างน้อยก็มีความสุข ถือเป็นความสำเร็จ การที่เรารักษาคนไข้และเขาอาการดีขึ้น หรือสอนลูกศิษย์และลูกศิษย์จบไปทำประโยชน์ให้สังคม ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้ามีความสุขที่ทำ จะทำให้ได้ดีจะได้รางวัลหรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ปัจจัยที่สอง อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นคนที่พอมีเวลาจะลงมือทำทันที ไม่รอให้ถึง deadline งานบางอย่างไม่มี deadline เช่น การวิจัย ไม่ได้มีคนมาบีบบังคับว่าจะต้องทำให้สำเร็จ ในด้านวิชาการบางอย่าง ยังไม่มีคนบีบบังคับมีเวลาว่างก็ต้องทำทันที อย่ารอเวลา
ปัจจัยที่สาม เป็นมิตรกับทุกคน พยายามมองในข้อดีของคนอื่นให้มากกว่าข้อเสีย เพราะทุกคนมีทั้งส่วนดี และส่วนไม่ดี สิ่งไหนที่มีค่าน้อยสำหรับเรา แต่อาจจะมีค่ามากกว่าสำหรับคนอื่น ก็ควรจะมอบให้เขาไปร่วมมือกันกับทุกฝ่าย คิดว่า ถ้าเราสามัคคีกันจะทำให้ประเทศชาติ หรือส่วนรวมก้าวหน้าไปมากกว่านี้ โดยส่วนตัวการที่พยายามไม่เป็นศัตรูกับใครไม่ต่อต้านใคร เมื่อถึงเวลาจะทำให้ทุกคนสนับสนุนเรา ยิ่งเราไปต่อต้านเขา เขายิ่งมาต้านเรา วันหน้าเราเพลี่ยงพล้ำ เขาอาจจะมาซ้ำเติมเรา ถ้าต่างคนต่างช่วยกัน ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ คือหลักการทำงาน
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้างแล้วเอาชนะอย่างไร
ในเรื่องของงานวิจัย จะมีอุปสรรคในเรื่องทุนวิจัย บางทีทำผลงานวิจัยและผลไม่ได้ตามที่ต้องการ ส่งไปตีพิมพ์เขาไม่รับ ก็ไม่ท้อ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทำครั้งแรกไม่สำเร็จ จะพยายามนำความคิดเห็นของเขามาทบทวนและลองแก้ไข ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ เช่น ได้เสนอต้นฉบับไปที่วารสารหนึ่ง เขาว่ายังไม่ดี แทนที่จะไปเสียใจ ก็กลับมาคิดว่า เขาติเรามาว่าอย่างนี้ จะกลับไปแก้ไขปรับปรุงและจะส่งไปอีกฉบับหนึ่ง ต้องไม่ท้อถอย ต้องรับฟัง บางทีบางคนเขาพูดมาเหมือนกับทำร้ายจิตใจ อาจจะต้องดูว่าเขามีเหตุผลอะไร ถ้าแก้ได้ก็พยายามแก้ไขปรับปรุง ทำต่อไป อย่าหยุด
ในเรื่องของการบริหาร อุปสรรคสำคัญที่ยากคือ การบริหารคน ถึงจะยากแต่ก็เป็นอีกทักษะหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากงานวิชาการ โดยเฉพาะบางทีบุคคลเขาไม่ถูกกัน รุนแรงพอสมควร ที่ผ่านมาพยายามแก้ปัญหาโดยให้มาพูดคุยกันต่อหน้า แทนที่จะนินทากันไปมา อาจจะมีการประชุมกันบ่อย ๆ การอยู่รวมกันและพูดคุยด้วยเหตุผลจะทำให้ลดความรุนแรงลงไปได้ส่วนหนึ่ง ในแง่ของหัวหน้าต้องพยายามไม่ให้เขารู้สึกว่าเราไม่เป็นธรรม ซึ่งยากที่คนจะยอมรับ แต่อย่างไรต้องพยายามทำให้เขารู้สึกว่า ทุกคนได้รับในส่วนที่ควรจะได้ ต้องพยายามเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่องอยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ส่วนตัวพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องการคิดย้อนเวลากลับไป สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ควรที่จะปล่อยให้ผ่านไป แต่ถ้าย้อนไปตอนที่อายุยังน้อย เราจะมุ่งแต่วิชาการ บางทีเราไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของคนไข้ ตอนนี้เริ่มดีขึ้นเพราะอายุมากขึ้น เริ่มเข้าใจชีวิตคนอื่นมากขึ้น เพราะฉะนั้น การเรียนรู้คือ ควรเข้าใจจิตวิทยามากกว่านี้ ซึ่งน่าจะส่งเสริมตั้งแต่เป็นนิสิตแพทย์ การเรียนแพทย์สมัยใหม่ ควรเน้นให้คำนึงเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของคนไข้มากขึ้นมากกว่าที่จะรักษาทางร่างกายอย่างเดียว
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ศ. นพ. ธานินทร์ อินทรกำธรชัย เป็นต้นแบบของความเป็นแพทย์ที่ดี อาจารย์มีจิตใจดีงามที่จะช่วยเหลือคนไข้เป็นหลัก มุ่งมั่นทุ่มเทที่จะรักษาคนไข้ มีเมตตา ซึ่งเป็นอันดับแรกที่จะนำไปสู่การหาความรู้ สามารถที่จะสอนได้ และนำไปสู่การวิจัย เพราะเราจะมีคำถามการวิจัย ซึ่งมาจากการรักษาคนไข้ รู้สึกว่าเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายแรกที่ดีกับคนไข้ อาจารย์ประสบความสำเร็จอย่างสูงเป็นที่เคารพยกย่องทั่วไป เป็นหัวหน้าภาควิชาและเป็นประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ผศ. พญ. มล.ดารัตน์ สวัสดิกุล เป็นต้นแบบในแง่การดำเนินชีวิต อาจารย์เป็นคนสมถะ มีธรรมะ พอใจที่จะอยู่อย่างเรียบง่าย ทำให้รู้สึกว่าความสุขไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงินทอง ทรัพย์สมบัติอะไรมากก็มีความสุข ไม่ต้องมีเกียรติยศชื่อเสียง ก็สามารถมีความสุขได้กับตนเอง
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เราคิดว่าอะไรที่มีประโยชน์ก็น่าจะทำ โดยที่ความสำเร็จอาจจะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาเอง การเป็นแพทย์เหมือนกับเป็นทางเดินที่เราเลือกไม่ผิด เป็นอาชีพที่สามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่น การทำในสิ่งที่มีประโยชน์ก็ทำให้เกิดความสุขทางใจตามมา
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์เมืองไทยนับว่าก้าวหน้ามาก คนเก่งมีจำนวนมาก เมื่อเทียบการสาธารณสุขที่มีการระบาดของโควิด-19 เห็นว่าการแพทย์ การสาธารณสุขเราดี ไม่แพ้ต่างชาติ
ทิศทางในอนาคต การที่จะเป็น Medical hub จะเอากำไรแต่ค่ารักษาก็คงจะไม่มาก เรื่องยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เรายังต้องซื้อมาจากต่างประเทศเหมือนได้กำไรก็ส่งไปสู่เขาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะเป็น Medical hub จริง คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องผลิตเอง การเริ่มต้นผลิต ยาเลียนแบบก่อน ซึ่งย่อมไม่สู้ของที่มาจากเมืองนอกในระยะแรก แต่ก็ต้องช่วยกันใช้เองก่อน ในที่สุดก็จะก้าวไปสู่การคิดค้นยาเอง คือ เป็น Innovator ได้ในอนาคต
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไปที่จบใหม่ อยากให้คิดทบทวนว่าในชีวิตนี้เราอยากจะทำอะไร มีอะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตหรือในงาน ต้องมี Work life balance เพราะในขณะที่เรียนเหมือนมีคนขีดให้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างตามเวลา พอเราจบการศึกษา จะขึ้นอยู่กับเราที่กำหนดชีวิตตนเอง อยากให้ตั้งเป้าหมายไว้ และพยายามที่จะดำเนินไปตามที่ตั้งไว้ อย่าปล่อยชีวิตไปเรื่อย ๆ เพราะหลังเรียนจบ ช่วงการทำงาน เวลาชีวิตจะผ่านไปเร็วมาก
สำหรับแพทย์สาขาวิชาโลหิตวิทยา ต้องยอมรับว่า เป็นแพทย์ที่มีรายได้น้อย แต่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้มากต้องยึดคนไข้เป็นหลักเพราะโรคโลหิตวิทยามีวิทยาการก้าวหน้า อย่างมะเร็งระยะสุดท้าย ยังหายขาดได้ นอกจากการทุ่มเทที่จะช่วยเหลือ ยังต้องติดตามวิชาการเพราะวิชาการก้าวหน้าค่อนข้างเร็วมาก ถ้าเรารักษาทั้งร่างกายและจิตใจ จะทำให้ช่วยคนไข้ได้มาก