อาจารย์ นพ. อนุชา อภิสารธนรักษ์
อาจารย์เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังอย่างไร ในการเป็นอาจารย์แพทย์
งานหลักเบื้องต้นของผมก็คือ การดูแลรักษาคนไข้ และการสอนนักศึกษาแพทย์ เพียงแต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมี key indicator ให้เลือกว่าใครจะไปชำนาญทางด้านไหน เช่น ด้านงานบริการก็จะดูแลรักษาคนไข้เป็นหลัก ด้านงานวิชาการก็เป็นการทำวิจัยเป็นหลัก แต่ละด้านจะมี key indicator ที่ต้องทำให้ตรงตามเป้าหมาย อย่างผมเลือกด้านวิชาการ ก็ต้องทำงานวิจัย มี commitment ในเรื่องเวลาในการทำวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานตามเป้าหมายด้วย อย่างเช่น ถ้าเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องมีงานวิจัย 2 ชิ้นงานต่อปี ถ้าเป็นงานบริการต้องมีจำนวนการดูแลคนไข้ตามเป้าด้วยเช่นกัน
“ผมรักษาคนไข้ก็รักษาตาม
key indicator อยู่แล้วแต่งานวิจัยก็เป็นอะไร
ที่ก่อให้เกิดประโยชน์
และเป็นองค์ความรู้ใหม่และเอาไปใช้งานจริงได้ด้วย”
แรงบันดาลใจหรือเหตุผล ที่เลือกเน้นด้านวิชาการและมีผลงานวิจัยจำนวนมาก
ส่วนตัวผมวิเคราะห์นิสัยตัวเองก่อนว่า ผมทำอะไรแล้วมีความสุข สนุกกับมัน ผมรู้สึกว่าลักษณะของผมเวลาทำอะไรก็จะเหมือน Forrest Gump หมายถึงว่า ถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบ จะรู้สึกอิน มีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่ทำ จนสามารถทำต่อเนื่องไปได้นาน ๆ อย่างทำงานวิจัยตอนเริ่มต้น ช่วงเป็น Fellow ก็คิดแค่ว่าเป็นอาจารย์มันต้องมีงานวิจัย ถึงจะทำตำแหน่งวิชาการได้ ก็เท่านั้น
แต่พอได้ทำวิจัยจริง ๆ มันทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น จากการที่ได้รับผลตอบรับที่ดีหลังจากงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ สำหรับงานวิจัยที่เป็นเสมือนแรงผลัก ถ้าเทียบกับกอล์ฟก็จะเหมือนช็อตระเบิดทราย แล้วลูกวิ่งลงหลุมไปเลยก็คือ งานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไหร่ พอทำไปวารสารสากลในระดับโลกเขาสนใจมาก ๆ ตีพิมพ์อะไรไปเขาก็รับหมดเลยทำให้แรงผลักเริ่มมา หลังจากที่ผมกลับมาจากเมืองนอกมีทั้งคนที่ติดต่อเพื่อขอดูการทำงาน คนที่เชิญเราไปบรรยาย หรืองานศึกษาที่เกี่ยวกับการรักษาเคสที่ยาก ๆ แปลก ๆ หลังจากตีพิมพ์ ก็มีคนสนใจติดต่อมาขอรายละเอียด หรือ E-mail มาถามขั้นตอนรักษา ผลตอบรับที่ดีที่กล่าวมา มันทำให้เราเข้าสู่โซนอารมณ์ที่มีความสุขจากการทำงานวิจัย ถ้าจะให้เข้าใจอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร ก็ให้นึกถึงตอนที่เราเล่นกีฬาสักอย่าง ผ่านการฝึกฝนจนสามารถทำได้ดีในระดับหนึ่ง การเล่นกีฬานั้นซ้ำ ๆ จะกลายเป็นความสุข ความรู้สึกเหนื่อย ท้ออื่น ๆ มันจะหายหรือกลายเป็นเรื่องเล็กไปในทันที
ทุกวันนี้ ผมมองว่าการทำงานวิจัยมันก็เป็นการช่วยคนแบบหนึ่งนะคือ คนไข้เราก็ช่วยอยู่แล้ว ผมรักษาคนไข้ก็รักษาตาม key indicator อยู่แล้ว แต่งานวิจัยก็เป็นอะไรที่ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นองค์ความรู้ใหม่ และเอาไปใช้งานได้ด้วย อย่างการเขียนหนังสือก็มีคนขอนะ โรงพยาบาลต่างจังหวัดเราก็บริจาคให้ห้องสมุด มันเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์เรามาก สิ่งที่เราทำอย่าไปคิดว่ามันเป็นประโยชน์เฉพาะตัวเรา จริง ๆ มันมีประโยชน์ต่อหลาย ๆ คนอย่างมาก คุณค่าของงานวิจัยมันจะอยู่ตลอด ถึงจุดหนึ่งเราตายไปแล้ว ยังอาจจะมีคนเอางานของเรามาดูก็ได้นะ
“ทุนของงานวิจัยมีน้อยมาก
มันยากที่จะขอทุน
ในปริมาณที่เยอะและหลาย ๆ ทุนก็โดนตัด
อันนี้เป็นปัญหาหลัก”
อุปสรรคและโอกาสของแพทย์ไทยในการทำงานวิจัย ในภาพรวมมีอะไรบ้าง
เริ่มจากอุปสรรคก่อน อุปสรรคสำคัญก็คือ 1) ทุนของงานวิจัยมันน้อยมาก มันยากที่จะขอทุนในปริมาณที่เยอะ ทุนก็โดนตัด อันนี้เป็นปัญหาหลัก และ 2) ทัศนคติของแพทย์ไทย ส่วนใหญ่เน้นการดูแลคนไข้ เขาคิดว่างานวิจัยไม่สำคัญ แต่จริง ๆ จากประสบการณ์ผม พบว่าจริงที่การดูแลคนไข้สำคัญ แต่การทำงานวิจัยไปด้วย และออกแบบให้การทำวิจัยนั้นช่วยเสริมให้การดูแลคนไข้ทำได้ดียิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่สำคัญ ในความเป็นจริงเราสามารถออกแบบให้การดูคนไข้กับงานวิจัยมันไปด้วยกันได้ ปัจจุบันผมก็รักษาโรคแปลก ๆ นะ ไม่ได้เสียทักษะของการเป็นแพทย์เลย แถมงานวิจัยที่ผมทำ ได้ต่อยอดความคิดในการดูคนไข้ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างเช่นผมไปเจอคนไข้บางคนที่วินิจฉัยไม่ได้ แต่เราทำวิจัยมาและเคยเจอ ก็บอกว่าคนไข้เป็นโรคนี้แหละ เท่าที่เห็นมาจากงานวิจัยนี้มันเป็นแบบเดียวกัน แล้วคนไข้ก็เป็นโรคนี้จริง ต้องบอกว่าการได้ทำงานวิจัย เป็นการช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ เพิ่มมุมมองที่มีต่อคนไข้มากขึ้นด้วย ส่วนอุปสรรคข้อสุดท้าย ผมมองว่า 3) คนไทยยังไม่ค่อยเก่งเรื่องภาษา ทำให้เป็นปัญหาว่า เวลาเขียนไปหลาย ๆ ครั้ง ที่เขาไม่รับก็เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนองานวิจัย
ในส่วนของโอกาสนั้น 1) บ้านเรามีโรคแปลก ๆ เยอะ ซึ่งในต่างประเทศไม่ค่อยมี และ 2) นอกจากโรคแปลก ๆ แล้ว บ้านเรามี Setting ที่แปลก ๆ ที่ต่างประเทศไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นตรงนี้ทำให้งานวิจัยบ้านเราทำแล้วมันน่าสนใจ แล้วสามารถต่อยอดออกไปอีกได้ใน Setting ที่ต่างประเทศเขาสนใจ แต่เห็นแบบนี้งานวิจัยที่ผมทำยังต้องหาทุนอยู่เลย
“ถ้าใครไม่ได้ปฏิบัติธรรม
อาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมพูดว่าการนั่งสมาธิ
แล้วอธิษฐานขอ
สามารถทำได้เช่นกันถ้าเราขอในสิ่งที่ดีดี”
อาจารย์จัดการกับอุปสรรคในระหว่างการทำงานวิจัยอย่างไร
มีหลายมุมมากนะ ผมขอยกตัวอย่าง 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องทุน บอกตรง ๆ ผมไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ยกตัวอย่างเช่น ตอนช่วงโควิดผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับยา Ivermectin ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะช่วยลดโควิดได้ ผมขอทุนไปทุกช่องทางนะ สรุปได้มาเป็นวัคซีน ผมขอเกี่ยวกับยาเขาไม่ให้เลย ไม่มีเงินทำวิจัย เราต้องออกเงินเองก่อน เป็นล้านบาทเลยที่ต้องออกเอง ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยมองถึงเรื่องของความเชื่อ ด้วยความที่ผมเป็นคนปฏิบัติธรรม ผมเลยอธิษฐานจิตขอทุน หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ทาง สคว. โทร.มาหาผมบอกว่า อาจารย์ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส ก็ทำให้ผมมีทุนมาทำวิจัย เรื่องนี้ต้องบอกว่าถ้าใครไม่ได้ปฏิบัติธรรมอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมพูด ว่าการนั่งสมาธิแล้วอธิษฐานขอ สามารถทำได้เช่นกัน ถ้าเราขอในสิ่งที่ดีดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับวาสนาของแต่ละคนด้วยนะ ไม่ใช่ว่าขอแล้วจะได้ทุกคน ผมไม่รู้จะพูดยังไง มันอธิบายยาก มันอาจจะเป็นเรื่องกึ่ง ๆ สายมู แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ ถ้าคนที่ปฏิบัติธรรมจะเข้าใจว่าสิ่งนี้มีจริง ก็เป็นในเรื่องของความเชื่อนะ เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
อีกเรื่องคือการเทรนนักศึกษาแพทย์ การทำงานวิจัยต้องมีทีมงานช่วย แต่แพทย์รุ่นเด็ก ๆ ทัศนคติในการทำงานจะยึดอารมณ์ตัวเองเป็นหลัก ไม่ค่อยติดตามงาน ไม่กระตุ้นตนเองหรือไม่อดทนเท่าที่ควร ขณะที่บางส่วนก็อยากทำงานใหญ่ ๆ ทั้งที่ตัวเองยังเป็น Fellow หรือ Resident อยู่ บางส่วนก็ไม่จัดลำดับงานวิจัยเป็นอันดับต้น ๆ หลายคนเข้ามาหาผมเพราะเห็นว่าผมมีชื่อเสียง แต่อาจลืมคิดไปว่า ตอนผมทำงานวิจัย ผมจะจริงจังมาก ผมก็เลยไม่อยากทำวิจัยกับคนที่ทำไม่เต็มที่ เพราะต้องเสียเวลาตัวเอง เสียเวลาครอบครัว เสียเวลาปฏิบัติธรรม เสียเวลาหลาย ๆ อย่าง วิธีแก้ปัญหาของผมก็คือ การสร้าง discipline หรือระเบียบวินัยให้กับแพทย์ที่มาช่วยงานผม พอมีวินัยแล้วก็ค่อยสอน ถ้ามีปัญหาผมก็ให้กำลังใจ คอยชี้แนะ โดยเราต้องมีทักษะในการ mentor เด็กที่จะมาทำวิจัยกับเรา เพราะในอดีตเราก็เคยถูกทำแบบนี้มาแล้ว ทำให้เรารู้ว่าควรจะ mentor อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ในต่างประเทศระบบเขาชัดเจน สมัยผมต้องเจออาจารย์ทุกอาทิตย์ เอาปัญหาเป็นตัวตั้งและเรียนรู้วิธีแก้ไปด้วยกัน แบบ learning by doing ถ้าไม่รู้ผมสอนได้ก็จะสอนให้ หรือถ้าอยากรู้เรื่องสถิติผมก็ส่งให้ไปเรียนรู้กับนักสถิติ อะไรแบบนี้ ถ้าผ่านได้ก็จะทำวิจัยเองได้เลย
แผนการทำงานวิจัยในอนาคตเป็นอย่างไร
เรื่องแรกคือ ผมจะขยับบทบาทตัวเองจากผู้ทำงานวิจัยมาเป็นผู้สอนการทำวิจัยให้มากขึ้น key indicator ผมจะต้องสอนนักศึกษาแพทย์ ผมรับทุนเมธีวิจัยอาวุโสผมต้องสอนเด็ก 15 คน ใน 3 ปี บทบาทผมก็เป็นผู้สอน และเป็นที่ปรึกษา ให้เด็กทำงานวิจัยให้สำเร็จและรู้สึกรักในงานวิจัย
เรื่องที่สอง อยากสร้างแรงบันดาลใจให้แพทย์รุ่นใหม่ ๆ เห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัย ให้เข้าถึงอารมณ์มีความสุขที่ได้ทำงานวิจัย ทำให้เขาเห็นว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม
เรื่องที่สาม ผมว่าจะทำงานวิจัยหลาย ๆ อย่างที่ผมชอบและยังเป็นงานที่ไม่มีใครทำ อย่างเรื่องเกี่ยวกับศาสนา จิตวิญญาณ เชื่อไหมว่ายังไม่มีใครเชื่อมเรื่องศาสนาไปยังการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลนะ ผมอยากทำเรื่องแบบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีคนทำกัน ตัวอย่างผมอาจจะให้ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มสติให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล แล้วติดตามการสัมผัสแอลกอฮอล์ กับกิจกรรมที่เป็นการป้องกันการติดเชื้อแบบต่าง ๆ แล้วมาเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝึกเพิ่มสติ เป็นต้น
สิ่งที่อยากเสนอ พัฒนาหรือปรับปรุง เพื่อให้งานวิจัยของแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรื่องแรก ผมว่า key indicator ยังไม่ค่อยชัดเจนในระดับอาจารย์ เช่น ผมเป็นอาจารย์ผมไม่สามารถให้น้ำหนักงานวิจัยได้เต็มที่ ทั้งที่ผมมี output ด้านนี้เยอะมาก ซึ่งการจะได้ output ขนาดนี้ผมต้องใช้เวลาทำเยอะมากด้วย แต่น้ำหนักได้ไม่มาก ทำให้เราต้องบาลานซ์ส่วนอื่นอย่างมาก ผมคิดว่า indicator ยังไม่ละเอียดพอ มันควรจะละเอียดมากกว่านี้ เพื่อให้คนทำงานวิจัย ทำงานวิจัยมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเขาจะคิดว่างานวิจัยเป็นภาระ แต่ละคนเขาก็มีครอบครัว มีพ่อแม่ เขาก็ต้องมีเรื่องที่เขาต้องทำ ถ้าทำแล้ว key indicator เขาไม่ได้ มันก็จะทำงานลำบาก ตอนนี้ key indicator ให้เฉพาะผู้บริหารเพราะผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ คนจะเข้าใจบริหารมากกว่าวิจัย เพราะฉะนั้นคนจะไม่เข้าใจวิจัย ทำแล้วเกิดประโยชน์อะไร เข้าใจว่าทำไปแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือ นักวิจัย แต่เขาจะไม่เคยคิดเลยว่าคนไข้จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาองค์ความรู้ แล้วองค์ความรู้ที่ได้ก็เอาไปช่วยคนอื่นได้ด้วย ผู้บริหารที่ไม่เคยทำงานวิจัยจะไม่เข้าใจพวกนี้ คือไม่สามารถพัฒนา key indicator ทำให้งานวิจัยแพร่หลายไปได้มากกว่านี้
เรื่องที่สอง อาจารย์รุ่นใหม่ ผมคิดว่าวิสัยทัศน์เขายังไม่พอ ควรมีการระดมสมองเพื่อคิดปัญหาวิจัยให้เขาก่อนในช่วงต้นของอาชีพเขา เขาอาจจะไม่เข้าใจว่าปัญหาวิจัยที่น่าสนใจคืออะไร ควรจะมีการระดมสมอง เพื่อ list คำถามวิจัยให้ และต้องมีการเทรน การวิเคราะห์ การเขียน โดยเฉพาะการเขียนซึ่งยังไม่ค่อยมีการเทรนเท่าไหร่ ทำให้งานวิจัยไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร
ข้อแนะนำถึงแพทย์ที่สนใจทำงานวิจัย ควรทำอย่างไร /และไม่ควรทำอย่างไร
แพทย์ต้องรู้จักตนเองว่าเป็นคนแบบไหนก่อน เหมาะกับการทำงานวิจัยหรือเปล่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานวิจัย ทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน งานวิจัยเป็นงานที่เกี่ยวกับการคิด คิดนอกกรอบ ลงมือศึกษา แล้วก็เขียน เป็นองค์ความรู้ พอทำซ้ำ ๆ ก็จะแตกย่อยเป็นองค์ความรู้ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นงานที่ทำได้ตลอดชีวิต ไม่ใช่งานที่ทำเสร็จแล้ว ก็จบกัน มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักตนเองก่อนว่าเหมาะสมหรือเปล่า ถ้าเราไม่แน่ใจเราก็ลองทำซัก 1 – 2 งาน เพราะเป็น Resident, Fellow ก็ต้องทำอยู่แล้ว และถ้ามันใช่ เราจะสนุกกับในการทำ มีสมาธิและตั้งใจทำ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อย่าไปฟืน แพทย์มีหลายแทรคหรือหลายทางเดินให้เลือก ไม่มีใครผิดใครถูกหรอก แต่ถ้ารู้ตัวเองแล้วว่า ชอบทำงานวิจัยก็ไปเทรนทักษะที่สำคัญต่องานวิจัย เช่น สถิติ รูปแบบงานวิจัย การเขียนวิจัย ลองทำกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ไปก่อน
สุดท้ายไม่ว่าจะทำงานอะไร ต้องมีจริยธรรม